เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 7. อรหันตวรรค 3. เพฬัฏฐสีสเถรวัตถุ
2. มหากัสสปเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[91] ผู้มีสติ หมั่นประกอบความเพียร1
ไม่ติดในที่อยู่ ละความห่วงอาลัยไป
เหมือนหงส์ละเปือกตมไป ฉะนั้น

3. เพฬัฏฐสีสเถรวัตถุ
เรื่องพระเพฬัฏฐสีสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[92] ผู้ไม่มีการสั่งสม2
กำหนดรู้อาหารก่อนแล้วจึงบริโภค
มีสุญญตวิโมกข์3 และอนิมิตตวิโมกข์ เป็นอารมณ์
ไม่ทิ้งทางไว้ให้เป็นที่รู้ได้
เหมือนนกไม่ทิ้งทางไว้ในอากาศ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ผู้มีสติ หมั่นประกอบความเพียร ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพผู้มีสติไพบูลย์ หมั่นประกอบในคุณธรรมมี
ฌานและวิปัสสนา เป็นต้น ที่ตนได้บรรลุแล้วโดยการนึก การเข้า การออก การอธิษฐาน และการพิจารณา
(ขุ.ธ.อ.4/52)
2 การสั่งสม มี 2 อย่าง คือ (1) กัมมสันนิจยะ การสั่งสมกรรมคือกุศลและอกุศล (2) ปัจจยสันนิจยะ
การสั่งสมปัจจัย 4 (ขุ.ธ.อ.4/53-54)
3 สุญญตวิโมกข์ หมายถึงสภาวะที่หลุดพ้น เพราะว่างจาก ราคะ โทสะ โมหะ
อนิมิตตวิโมกข์ หมายถึงสภาวะที่หลุดพ้น เพราะไม่มีนิมิต คือ ราคะ เป็นต้น
ในคาถาที่ 92-93 นี้ หมายรวมถึงอัปปณิหิตวิโมกข์ ได้แก่ สภาวะที่หลุดพ้น เพราะไม่มีที่ตั้งคือกิเลส
มีราคะเป็นต้นด้วย วิโมกข์ทั้ง 3 ประการนี้ เป็นชื่อของนิพพาน (ขุ.ธ.อ.4/54)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :57 }