เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 7. พราหมณธัมมิกสูตร
[295] พราหมณ์สมัยนั้นพากันสรรเสริญการประพฤติพรหมจรรย์1
ศีล ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ตบะ
ความสงบเสงี่ยม การไม่เบียดเบียนกัน และขันติ
[296] พราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหม ผู้มีความบากบั่นมั่นคง
เป็นผู้สูงสุดกว่าพราหมณ์เหล่านั้น
และพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่เสพเมถุนธรรม
แม้แต่จะฝันถึงก็ไม่มี
[297] พราหมณ์บางพวกผู้เป็นบัณฑิตในโลกนี้
ศึกษาตามวัตรปฏิบัติของพราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหมนั้นอยู่
จึงสรรเสริญการประพฤติพรหมจรรย์ ศีล และขันติ
[298] พราหมณ์ทั้งหลายผู้ขอข้าวสาร ที่นอน ผ้า เนยใส และน้ำมัน
มาเก็บรวบรวมไว้โดยธรรมแล้วบูชายัญด้วยของเหล่านั้น
[299] ในยัญที่บูชานั้น พราหมณ์จะไม่ยอมฆ่าแม่โคเลย
เหมือนมารดาบิดา พี่น้อง หรือแม้ญาติอื่น ๆ
ไม่ยอมฆ่าแม่โค เพราะคิดว่าแม่โคเป็นสัตว์มีอุปการะยิ่งใหญ่
ซึ่งผลิตปัญจโครส2อันเป็นยา
[300] อนึ่ง แม่โคนั้นให้ข้าว ให้กำลัง ให้ผิวพรรณ และความสุข
พราหมณ์ทราบถึงประโยชน์ยิ่งใหญ่เช่นนี้จึงไม่ยอมฆ่าแม่โค
[301] พราหมณ์เหล่านั้นมีผิวเนื้อละเอียดอ่อน
มีรูปร่างใหญ่ มีผิวพรรณผุดผ่อง มีเกียรติยศ
ปฏิบัติหน้าที่ใหญ่น้อยตามธรรมเนียมของตนอย่างเคร่งครัด

เชิงอรรถ :
1 พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงเมถุนวิรัติ (ขุ.สุ.อ. 2/294/130)
2 ปัญจโครส หมายถึงผลผลิตเกิดจากโค มี 5 อย่าง คือ นมสด นมเปรี้ยว เปรียง เนยใส และเนยข้น (วิ.ม.
(แปล) 5/299/127)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :569 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 7. พราหมณธัมมิกสูตร
ได้บำเพ็ญจริยาวัตรต่าง ๆ ในโลก
มุ่งให้ประชาชนประสพสุขสวัสดี
[302] ต่อมา พราหมณ์เหล่านั้นเกิดความสำคัญผิด
เพราะเห็นความสุขเพียงเล็กน้อยที่เกิดจากกามคุณที่ต่ำทราม
สมบัติอันวิเศษของพระเจ้าแผ่นดิน และสตรีที่แต่งกายงดงาม
[303] รถเทียมม้าอาชาไนยที่ตกแต่งไว้ดี
สลักลวดลายอย่างวิจิตร
เรือนใหญ่เรือนน้อยที่แบ่งสัดส่วนไว้เป็นอย่างดี
[304] พราหมณ์ผู้สำคัญผิดนั้น
ปรารถนาอยากเป็นเจ้าของโภคทรัพย์
ซึ่งเป็นของมนุษย์อันโอฬาร เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงโค
ประกอบไปด้วยหมู่นารีผู้ประเสริฐ
[305] พราหมณ์เหล่านั้นจึงผูกมนตร์มุ่งหวังโภคสมบัตินั้น ๆ
แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระเจ้าโอกกากะ กราบทูลว่า
‘พระองค์ทรงมีทรัพย์และธัญชาติเป็นจำนวนมาก
ขอพระองค์ทรงบูชายัญเถิด
พระองค์จะทรงมีแก้ว แหวน เงิน ทอง
พืชพันธุ์ธัญญาหารเพิ่มมากขึ้น’
[306] และเมื่อพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงองอาจยิ่งใหญ่
ทรงยินยอมตามคำของพราหมณ์นั้นแล้ว
จึงทรงบูชายัญ คือ อัสสเมธะ ปุริสเมธะ
สัมมาปาสะ วาชเปยยะ และนิรัคคฬะ1
ครั้นเสร็จแล้วก็พระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์เหล่านั้น

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 373 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :570 }