เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 7. พราหมณธัมมิกสูตร
[288] พราหมณ์สมัยก่อน ไม่มีสัตว์เลี้ยง
ไม่สะสมเงินทอง ไม่มีสิ่งของต่าง ๆ
พวกเขามีทรัพย์และธัญชาติคือการสาธยายมนตร์
รักษาขุมทรัพย์ที่ประเสริฐ1ไว้
[289] ทายกต่างเต็มใจถวายภัตตาหาร
ที่ตนจัดเตรียมไว้ที่ประตูเรือน
แก่พราหมณ์ที่แสวงหาภัตตาหาร
ที่บุคคลให้ด้วยศรัทธาเป็นนิตย์
[290] ทั้งชาวชนบทและชาวเมืองต่างแต่งกาย
ด้วยเสื้อผ้าแพรพรรณหลากสี
มีที่อยู่หลับนอนอาศัยเป็นหลักแหล่งมั่นคง
ได้พากันเคารพนับถือพราหมณ์เหล่านั้น
[291] พราหมณ์ทั้งหลาย ชื่อว่ามีธรรมรักษา
จึงไม่มีใคร ๆ คิดฆ่า คิดเอาชนะ
และทุกครัวเรือนไม่มีใคร ๆ ปฏิเสธพราหมณ์เหล่านั้นเลย
[292] สมัยก่อน พราหมณ์ได้ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่เด็ก
เที่ยวเสาะแสวงหาวิชชาและจรณะ นับเป็นเวลานานถึง 48 ปี
[293] พราหมณ์เหล่านั้นไม่สมสู่กับหญิงวรรณะอื่น
ทั้งไม่ยอมใช้เงินซื้อหญิงมาเป็นภรรยา
แต่จะอภิรมย์อยู่กินกับหญิงที่ผู้ปกครองยกให้
ด้วยความสมัครใจเท่านั้น
[294] พราหมณ์ผู้เป็นสามีย่อมไม่ร่วมกับภรรยาผู้เว้นจากระดู2
นอกจากสมัยที่ควรจะร่วม
พราหมณ์ย่อมไม่ร่วมเมถุนธรรมในระหว่างโดยแท้

เชิงอรรถ :
1 ขุมทรัพย์ที่ประเสริฐ ในที่นี้หมายถึงวิหารธรรม มีเมตตา เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. 2/288/126-127)
2 ภรรยาผู้เว้นจากระดู หมายถึงภรรยาที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน (ขุ.สุ.อ. 2/294/129)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :568 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 7. พราหมณธัมมิกสูตร
[295] พราหมณ์สมัยนั้นพากันสรรเสริญการประพฤติพรหมจรรย์1
ศีล ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ตบะ
ความสงบเสงี่ยม การไม่เบียดเบียนกัน และขันติ
[296] พราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหม ผู้มีความบากบั่นมั่นคง
เป็นผู้สูงสุดกว่าพราหมณ์เหล่านั้น
และพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่เสพเมถุนธรรม
แม้แต่จะฝันถึงก็ไม่มี
[297] พราหมณ์บางพวกผู้เป็นบัณฑิตในโลกนี้
ศึกษาตามวัตรปฏิบัติของพราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหมนั้นอยู่
จึงสรรเสริญการประพฤติพรหมจรรย์ ศีล และขันติ
[298] พราหมณ์ทั้งหลายผู้ขอข้าวสาร ที่นอน ผ้า เนยใส และน้ำมัน
มาเก็บรวบรวมไว้โดยธรรมแล้วบูชายัญด้วยของเหล่านั้น
[299] ในยัญที่บูชานั้น พราหมณ์จะไม่ยอมฆ่าแม่โคเลย
เหมือนมารดาบิดา พี่น้อง หรือแม้ญาติอื่น ๆ
ไม่ยอมฆ่าแม่โค เพราะคิดว่าแม่โคเป็นสัตว์มีอุปการะยิ่งใหญ่
ซึ่งผลิตปัญจโครส2อันเป็นยา
[300] อนึ่ง แม่โคนั้นให้ข้าว ให้กำลัง ให้ผิวพรรณ และความสุข
พราหมณ์ทราบถึงประโยชน์ยิ่งใหญ่เช่นนี้จึงไม่ยอมฆ่าแม่โค
[301] พราหมณ์เหล่านั้นมีผิวเนื้อละเอียดอ่อน
มีรูปร่างใหญ่ มีผิวพรรณผุดผ่อง มีเกียรติยศ
ปฏิบัติหน้าที่ใหญ่น้อยตามธรรมเนียมของตนอย่างเคร่งครัด

เชิงอรรถ :
1 พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงเมถุนวิรัติ (ขุ.สุ.อ. 2/294/130)
2 ปัญจโครส หมายถึงผลผลิตเกิดจากโค มี 5 อย่าง คือ นมสด นมเปรี้ยว เปรียง เนยใส และเนยข้น (วิ.ม.
(แปล) 5/299/127)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :569 }