เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 7. พราหมณธัมมิกสูตร
7. พราหมณธัมมิกสูตร
ว่าด้วยธรรมของพราหมณ์ที่แท้จริง
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พรามหณ์มหาศาลชาวโกศลจำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่
เป็นผู้แก่เฒ่า สูงอายุ เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับแล้วทั้งนั้น พากัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค
พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ปัจจุบันนี้ พราหมณ์1ทั้งหลายยังนิยมปฏิบัติ
ธรรมเนียมของพราหมณ์สมัยโบราณอยู่หรือไม่”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ท่านพราหมณ์ทั้งหลาย ปัจจุบันนี้ พราหมณ์
ทั้งหลายไม่นิยมปฏิบัติธรรมเนียมของพราหมณ์สมัยโบราณเลย”
พราหมณ์ทั้งหลายทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ขอประทานวโรกาส หากไม่
ทรงหนักพระทัย ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเนียมของพราหมณ์สมัยโบราณแก่
ข้าพระองค์ทั้งหลายด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ท่านพราหมณ์ทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี เราจะกล่าว”
พราหมณมหาศาลเหล่านั้นทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
จึงได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[287] ฤๅษีทั้งหลายสมัยก่อน มีความสำรวมตน
มีตบะ2 ละกามคุณ 5 ได้แล้ว
บำเพ็ญประโยชน์ตนให้สำเร็จ

เชิงอรรถ :
1 พราหมณ์ มี 5 จำพวก คือ (1) พรหมสมพราหมณ์ (พราหมณ์ที่มีความประพฤติเสมอพรหม)
(2) เทวสมพราหมณ์ (พราหมณ์ที่มีความประพฤติเสมอเทวดา) (3) มริยาทพราหมณ์ (พราหมณ์ที่มีความ
ประพฤติดี) (4) สัมภินนมริยาทพราหมณ์ (พราหมณ์ที่มีความประพฤติทั้งดีและชั่วปนกัน) (5) พราหมณ-
จัณฑาลพราหมณ์ (พราหมณ์ที่เป็นพราหมณ์จันฑาล) (องฺ.ปญฺจก. (แปล) 22/192/323)
2 มีตบะ ในที่นี้หมายถึงสำรวมอินทรีย์ 6 ประการ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) (ขุ.สุ.อ. 2/187/126)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :567 }