เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 5. สูจิโลมสูตร
สูจิโลมยักษ์กล่าวว่า “สมณะ ข้าพเจ้าจะขอตั้งปัญหาถามท่าน ถ้าท่านตอบ
ข้าพเจ้าไม่ได้ ข้าพเจ้าจะควักดวงจิตของท่านออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจท่านให้
แหลกสลาย หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของท่านเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ยักษ์เอ๋ย เรายังไม่เห็นใครสักคนเลยในโลก พร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ
มนุษย์ ผู้จะสามารถควักดวงจิตของเราออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจเราให้แหลกสลาย
หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของเราเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้นได้ เอาเถอะ
เชิญท่านถามปัญหาตามที่ท่านสงสัยเถิด”
ลำดับนั้น สูจิโลมยักษ์ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[273] ราคะและโทสะ มีอะไรเป็นเหตุ
ความไม่ยินดี ความยินดี
และความขนพองสยองเกล้าเกิดจากอะไร
ความตรึกในใจเกิดจากอะไร ย่อมผูกจิตไว้ได้
เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น
[274] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาดังนี้)
ราคะและโทสะมีอัตภาพนี้เป็นเหตุ
ความไม่ยินดี ความยินดี
และความขนพองสยองเกล้าเกิดจากอัตภาพนี้
ความตรึกในใจเกิดจากอัตภาพนี้ ย่อมผูกจิตไว้ได้
เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น
[275] อกุศลวิตกเป็นอันมากเกิดจากความเยื่อใย1
เกิดขึ้นในตนแล้วแผ่ซ่านไปในวัตถุกามทั้งหลาย
เหมือนย่านไทรเกิดจากลำต้นไทรแล้วแผ่ขยายไปในป่า ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ความเยื่อใย ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.สุ.อ. 2/275/115)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :564 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 6. ธัมมจริยสูตร
[276] สัตว์เหล่าใดรู้ชัดหมู่กิเลสนั้นว่า มีกิเลสใดเป็นเหตุ
สัตว์เหล่านั้นย่อมบรรเทาหมู่กิเลสนั้นเสียได้
ท่านจงฟังเถิดยักษ์ สัตว์เหล่าใดบรรเทาหมู่กิเลสได้
สัตว์เหล่านั้นย่อมข้ามพ้นโอฆะที่ข้ามได้ยาก
อันตนไม่เคยข้าม เพื่อความไม่มีภพใหม่ต่อไป
สูจิโลมสูตรที่ 5 จบ

6. ธัมมจริยสูตร
ว่าด้วยการประพฤติธรรม
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายดังนี้)
[277] พระอริยะทั้งหลายกล่าวการประพฤติธรรม1
และการประพฤติพรหมจรรย์2ทั้ง 2 นี้ว่า เป็นรัตนะอันสูงสุด
ถ้าบุคคลออกจากเรือนมาบวชเป็นบรรพชิต
[278] หากผู้ที่บวชแล้วนั้นเป็นคนปากร้าย
ชอบเบียดเบียนผู้อื่นดุจสัตว์ป่า
ชีวิตของเขาชื่อว่าต่ำทรามที่สุด
เพราะมีแต่จะทำให้ธุลีคือกิเลสพอกพูนในใจของตน
[279] ภิกษุผู้ชอบทะเลาะ ถูกโมหะปิดบัง
แม้เพื่อนพรหมจารีผู้มีศีลตักเตือนแล้ว
ก็ไม่ยอมรับรู้ธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
[280] ภิกษุผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว
ชอบเบียดเบียนพระอริยะผู้อบรมตนแล้ว
ไม่รู้ว่าเป็นความเศร้าหมองและเป็นหนทางให้ตกนรก

เชิงอรรถ :
1 การประพฤติธรรม หมายถึงการประพฤติสุจริต มีกายสุจริต เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. 2/277/121)
2 พรหมจรรย์ หมายถึงมัคคพรหมจรรย์ (ขุ.สุ.อ. 2/277/121)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :565 }