เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 2. อามคันธสูตร
ข้าแต่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้าพระองค์ขอทูลถามความข้อนี้กับพระองค์
กลิ่นดิบของพระองค์ มีความหมายอย่างไร
[245] (พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบดังนี้)
การฆ่าสัตว์ การทุบตี การตัด การจองจำ
การลักขโมย การพูดเท็จ การเห็นแก่ได้ การหลอกลวง
การศึกษาตำราที่ไร้ประโยชน์ และการเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[246] ในโลกนี้ คนผู้ไม่ควบคุมตนในกามทั้งหลาย
ติดอยู่ในรสต่าง ๆ เจือปนด้วยของไม่สะอาด
มีความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล
มีการงานไม่เสมอ ว่ายากสอนยาก
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[247] พวกคนผู้เศร้าหมอง มีใจหยาบช้า หน้าไหว้หลังหลอก
ประทุษร้ายมิตร ไร้ความกรุณาผู้อื่น ถือตัวจัด
ไม่ชอบให้ทาน และไม่เคยให้อะไรแก่ใคร ๆ
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[248] ความโกรธ ความมัวเมา ความดื้อรั้น การตั้งตนไว้ผิด
ความมีมายา ความริษยา การยกตนข่มผู้อื่น
การถือตัวเหยียดหยามผู้อื่น และการสมาคมกับอสัตบุรุษ
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[249] ในโลกนี้ คนผู้ประพฤติชั่วเป็นปกติ
กู้หนี้แล้วไม่ชดใช้ ชอบพูดเสียดสี
เป็นพยานให้การเท็จ ปลอมเป็นนักบวชในศาสนานี้
เป็นคนต่ำทราม ทำความชั่วร้ายแรงไว้
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :558 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 2. อามคันธสูตร
[250] ในโลกนี้ คนผู้ฆ่าสัตว์ทั้งหลาย
ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น
ประพฤติชั่ว ร้ายกาจ พูดคำหยาบ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[251] คนผู้รักใคร่ เกลียดชัง ลุ่มหลง
ประกอบอกุศลกรรมอยู่เสมอ
ตายแล้วต้องตกไปสู่ที่มืด หรือไม่ก็ดิ่งหัวจมลงไปสู่นรก
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[252] มิใช่การบริโภคปลาและเนื้อ มิใช่การเป็นคนเปลือย
มิใช่ความเป็นคนโล้น มิใช่การเกล้าชฎา
และการเป็นคนหมักหมมด้วยธุลี
มิใช่การครองหนังเสือที่ยังมีเล็บ มิใช่การบำเรอไฟ
หรือความเศร้าหมองในกาย
ที่เป็นไปด้วยความปรารถนาความเป็นเทพ
ความเป็นผู้ไม่ตาย การทำตนให้ลำบากหลากหลายวิธี
เวทมนตร์ทั้งหลาย การบูชาไฟ การบูชายัญ
และการทรมานตนตามฤดูกาล
ที่ทำคนผู้ยังไม่ล่วงพ้นความสงสัยให้หมดจดได้
[253] ผู้ใดคุ้มครองอินทรีย์ทั้ง 6 นั้นได้
เข้าใจชัดอินทรีย์ 6 อยู่เสมอ ดำรงตนอยู่ในธรรม
ยินดีในความซื่อตรงและความอ่อนโยน
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้องได้ ละทุกข์ทั้งหมดได้เด็ดขาด
ผู้นั้นชื่อว่า เป็นปราชญ์ ไม่ยึดติดในอารมณ์ที่ได้เห็น ได้ฟัง และได้รับรู้
[254] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกความที่กล่าวมานี้เนือง ๆ
จนติสสดาบสผู้เรียนจบมนตร์เข้าใจข้อความนั้นได้แล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมุนี ได้ทรงประกาศด้วยพระคาถาอันไพเราะว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :559 }