เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 6. ปัณฑิตวรรค 11. ปัญจสตอาคันตุกภิกขุวัตถุ
10. ธัมมัสสวนวัตถุ1
เรื่องการฟังธรรม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[85] ในหมู่มนุษย์ เหล่าชนผู้ไปถึงฝั่งโน้น2 มีจำนวนน้อย
ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้เลาะไปตามฝั่งนี้3ทั้งนั้น
[86] ส่วนชนเหล่าใดประพฤติตามธรรม
ในธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ4
ชนเหล่านั้นจักข้ามพ้นวัฏฏะ
อันเป็นบ่วงมารที่ข้ามได้แสนยาก ไปถึงฝั่งโน้นได้

11. ปัญจสตอาคันตุกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุอาคันตุกะ 500 รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุอาคันตุกะผู้อยู่ในแคว้นโกศล ดังนี้)
[87] บัณฑิตละธรรมดำ5 แล้วพึงเจริญธรรมขาว6
ออกจากวัฏฏะมาสู่วิวัฏฏะ7

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) 19/34/33, 198/74, องฺ.ทสก. (แปล) 24/117/269-270
2 ฝั่งโน้น หมายถึงนิพพาน (องฺ.ทสก.อ. 3/117-118/375, ขุ.ธ.อ. 4/45, สํ.ม.อ. 3/31-40/196)
3 ฝั่งนี้ หมายถึงสักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นอัตตาของตน) (ขุ.ธ.อ. 4/45) หรือหมายถึงวัฏฏะ (สํ.ม.อ.
3/31-40/196)
4 ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ หมายถึงโลกุตตรธรรม 9 ประการ คือ มรรค 4 ผล 4
นิพพาน 1 (องฺ.ทสก.อ. 3/117-118/375)
5 ธรรมดำ หมายถึงอกุศลธรรม มีกายทุจริต เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 4/47)
6 ธรรมขาว หมายถึงกุศลธรรม มีกายสุจริต เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 4/47)
7 ออกจากวัฏฏะมาสู่วิวัฏฏะ หมายถึงออกจากวัฏฏะที่เรียกว่า โอกะ (ที่มีน้ำ) มาสู่วิวัฏฏะที่เรียกว่า อโนกะ
(ที่ไม่มีน้ำ) ได้แก่ นิพพาน (สํ.ม.อ. 3/31-40/196, องฺ.ทสก.อ.3/117-118/375, ขุ.ธ.อ.4/47)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :55 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 7. อรหันตวรรค 1. ชีวกวัตถุ
[88] ละกามทั้งหลายแล้ว เป็นผู้หมดความกังวล
พึงปรารถนายินดียิ่งในวิเวกที่ยินดีได้ยากยิ่ง
พึงชำระตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตทั้งหลาย
[89] บัณฑิตเหล่าใดอบรมจิตโดยชอบ
ในองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ทั้งหลาย
ไม่ถือมั่น ยินดีในนิพพานเป็นที่สละความถือมั่น
บัณฑิตเหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้ว
มีความรุ่งเรือง ดับสนิทแล้วในโลก1
ปัณฑิตวรรคที่ 6 จบ

7. อรหันตวรรค
หมวดว่าด้วยพระอรหันต์
1. ชีวกวัตถุ
เรื่องหมอชีวก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่หมอชีวก ดังนี้)
[90] ผู้บรรลุจุดหมายปลายทางแล้ว2
ไร้ความโศก หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง3
ละกิเลสเครื่องร้อยรัด4ได้หมด ย่อมไม่มีความเร่าร้อน

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) 19/34/33-34, องฺ.ทสก. (แปล) 24/169/269-270
2 ผู้บรรลุจุดหมายปลายทาง หมายถึงพระขีณาสพผู้ถึงที่สุดแห่งสังสารวัฏ (ขุ.ธ.อ. 4/49)
3 ธรรมทั้งปวง หมายถึงธรรมทั้งหลายมีขันธ์ 5 เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 4/49)
4 กิเลสเครื่องร้อยรัด หมายถึงกิเลส 4 อย่าง คือ (1) อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้ของคนอื่น
(2) พยาบาท ความคิดร้ายผู้อื่น (3) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลและวัตร (4) อิทังสัจจาภินิเวส
ความถือมั่นว่านี้เท่านั้นจริง (ขุ.ธ.อ. 4/49) และดู ขุ.ม. (แปล) 29/29/119)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :56 }