เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. อุรควรรค] 11. วิชยสูตร
[201] อนึ่ง ร่างกายนี้มีศีรษะเป็นโพรง เต็มด้วยมันสมอง
ซึ่งคนพาลถูกอวิชชาครอบงำ หลงเข้าใจว่าเป็นของสวยงาม
[202] และเมื่อร่างกายนั้นตาย ขึ้นอืด มีสีเขียวคล้ำ
ถูกทิ้งให้นอนอยู่ในป่าช้า หมู่ญาติต่างหมดความอาลัยไยดี
[203] ร่างกายที่เปื่อยเน่านั้น สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่า
หมู่หนอน ฝูงกา ฝูงแร้งและสัตว์ที่กินซากศพอื่น ๆ
ย่อมรุมยื้อแย่งกันกิน
[204] ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ฟังพุทธพจน์แล้วเกิดปัญญา
ย่อมกำหนดรู้และพิจารณาเห็นร่างกายนั้น
ตามความเป็นจริงทีเดียว
[205] ร่างกายที่ตายแล้วนั้นได้เคยเป็นเหมือนร่างกายที่มีชีวิตนี้
และร่างกายที่มีชีวิตนี้ก็จะเป็นเหมือนร่างกายที่ตายแล้วนั้น
ภิกษุจึงควรคลายความยินดีพอใจในร่างกาย
ทั้งภายในและภายนอก
[206] ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีปัญญา ไม่ยินดีด้วยฉันทราคะ
ได้บรรลุนิพพานที่เป็นอมตะอันสงบ ดับ และไม่จุติ
[207] ร่างกายนี้ มี 2 เท้า ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น
เต็มไปด้วยซากศพต่าง ๆ ขับถ่ายของไม่สะอาด
มีน้ำลายน้ำมูกเป็นต้นออกทางทวารทั้ง 9
ขับเหงื่อไคลให้ไหลออกทางรูขุมขนนั้น ๆ
ต้องบำรุงรักษาอยู่เสมอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :547 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 12. มุนิสูตร
[208] ด้วยร่างกายที่มีสภาพเช่นนี้
การที่บุคคลหลงเข้าใจผิดคิดเข้าข้างตนเอง
และดูหมิ่นผู้อื่นนั้น จะมีประโยชน์อะไร
นอกจากการไม่เห็นอริยสัจ
วิชยสูตรที่ 11 จบ

12. มุนิสูตร
ว่าด้วยลักษณะของมุนี
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
[209] ภัยเกิดจากความเชยชิด1
ธุลีคือราคะ โทสะ และโมหะ
เกิดจากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส
ความไม่มีกิเลส ไม่มีความเชยชิด
นั้นแล เป็นลักษณะของมุนี
[210] บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้ที่ตัดกิเลสที่เกิดขึ้นได้
ไม่ปลูกกิเลสให้เกิดขึ้นอีก
เมื่อกิเลสเกิดขึ้นก็ไม่พึงให้ไหลเข้าอีก
ว่า เป็นมุนีผู้เที่ยวไปอยู่
พระมุนีนั้นผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้ทรงเห็นสันติบทแจ้งชัดแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ความเชยชิด หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. 1/209/287)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :548 }