เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. อุรควรรค] 10. อาฬวกสูตร
[185] (อาฬวกยักษ์ถามดังนี้)
คนจะข้ามโอฆะได้อย่างไร
จะข้ามห้วงมหรรณพได้อย่างไร
จะล่วงพ้นทุกข์ได้อย่างไร
และจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร
[186] (พระผู้พระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนจะข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา
จะข้ามห้วงมหรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท
จะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร
และจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา
[187] (อาฬวกยักษ์ถามดังนี้)
คนทำอย่างไรจึงจะได้ปัญญา
ทำอย่างไรจึงจะได้ทรัพย์
ทำอย่างไรจึงจะได้เกียรติ
ทำอย่างไรจึงจะผูกใจหมู่มิตรไว้ได้
และทำอย่างไรเมื่อตายแล้วจะไม่เศร้าโศก
[188] (พระผู้พระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนต้องการบรรลุนิพพาน
เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระอรหันต์
ไม่ประมาท รู้จักพินิจพิจารณา
ตั้งใจฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา
[189] คนปฏิบัติตนตรงต่อเวลา เอาธุระ
มีความขยันย่อมหาทรัพย์ได้
ย่อมได้เกียรติด้วยความสัตย์จริง
ผู้ให้ย่อมผูกใจหมู่มิตรไว้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :544 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. อุรควรรค] 10. อาฬวกสูตร
[190] คนผู้อยู่ครองเรือน มีศรัทธา
ประพฤติธรรม 4 ประการนี้คือ
สัจจะ ธรรมะ ธิติ และจาคะ
ตายแล้วย่อมไม่เศร้าโศก
[191] เชิญท่านถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นดูเถิดว่า
ในโลกนี้ เหตุให้ได้เกียรติที่ยิ่งไปกว่าสัจจะก็ดี
เหตุให้มีปัญญาที่ยิ่งไปกว่าทมะ1ก็ดี
เหตุให้ผูกมิตรสหายไว้ได้ที่ยิ่งไปกว่าจาคะก็ดี
เหตุให้หาทรัพย์ได้ที่ยิ่งไปกว่าขันติ2ก็ดี มีอยู่หรือไม่
[192] (อาฬวกยักษ์กราบทูลดังนี้)
วันนี้ ข้าพระองค์ได้ทราบชัดถึงประโยชน์ที่จะพึงได้ในโลกหน้าแล้ว
ยังต้องถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นอีกทำไม
[193] พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่เมืองอาฬวี
เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระองค์โดยแท้
ในวันนี้ข้าพระองค์ได้ทราบชัดถึงบุคคล
ที่ใคร ๆ ถวายทานแล้วมีผลมาก
[194] ข้าพระองค์นั้นขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว
เที่ยวประกาศธรรมไปทุกหนทุกแห่ง
ตามหมู่บ้านหรือตามหัวเมืองน้อยใหญ่
อาฬวกสูตรที่ 10 จบ

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “ธรรม” ในข้อ 190 กับคำว่า “ทมะ” ในข้อ 191 มีความหมายเดียวกัน คือ หมายถึงปัญญา
ที่ได้จากการฟัง และปัญญานี้เองเป็นเหตุให้ได้ปัญญาที่เป็นทั้งโลกิยะและโลกุตตระ (ขุ.สุ.อ. 1/190-191/
267-268)
2 คำว่า “ธิติ” ในข้อ 190 กับคำว่า “ขันติ” ในข้อ 191 มีความหมายเดียวกัน คือ หมายถึงวิริยะ
(ความเพียร) (ขุ.สุ.อ. 1/191/268)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :545 }