เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 9. เหมวตสูตร
[167] (เหมวตยักษ์กล่าวดังนี้)
มาเถิด เราทั้งสองจะไปเฝ้าพระโคดม
ผู้มีพระชงฆ์ดังปลีแข้งเนื้อทราย
มีพระวรกายงามระหง มีลักษณะองอาจ
เสวยพระกระยาหารแต่พอประมาณ
ทรงปราศจากความติดพระทัยในรสพระกระยาหาร
ทรงเป็นมุนีผู้เพ่งพินิจอยู่ในป่า
[168] เราทั้งสองไปเฝ้าพระโคดม ผู้สง่าดุจราชสีห์
เสด็จจาริกโดดเด่นพระองค์เดียว1
ทรงเป็นพระนาคะ2
ไม่ทรงยินดีในกามทั้งหลาย
จะทูลถามถึงธรรมเครื่องพ้นจากบ่วงมัจจุราช3
[169] เราทั้งสองจงทูลถามพระโคดมผู้ทรงแนะนำพร่ำสอน
ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง4
ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ ล่วงพ้นเวรภัยได้ทุกอย่าง

เชิงอรรถ :
1 เสด็จจาริกโดดเด่นพระองค์เดียว หมายถึงไม่มีตัณหา อีกนัยหนึ่ง หมายถึงในโลกธาตุเดียวกันนี้ มีเพียง
พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีพระพุทธเจ้า 2 พระองค์ (ขุ.สุ.อ. 1/168/237)
2 ทรงเป็นพระนาคะ หมายถึงเป็นผู้ไม่เกิดอีกบ้าง เป็นผู้ไม่ทำความชั่วบ้าง หรือหมายถึงทรงมีพลธรรม
บ้าง (ขุ.สุ.อ. 1/168/237)
3 ธรรมเครื่องพ้นจากบ่วงมัจจุราช ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ.1/168/238)
4 ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมที่เป็นไปในภูมิ 4 (ขุ.สุ.อ.1/169/239)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :538 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 9. เหมวตสูตร
[170] (เหมวตยักษ์ทูลถามดังนี้)
เมื่ออะไรเกิด สัตว์โลกจึงเกิด
สัตว์โลกยินดีในอะไร
สัตว์โลกยึดถืออะไร
เพราะอะไรสัตว์โลกจึงเดือดร้อน
[171] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เมื่ออายตนะ 61 เกิด สัตว์โลกจึงเกิด
สัตว์โลกย่อมยินดีในอายตนะ 6
สัตว์โลกยึดถืออายตนะ 6 นั่นแล
เพราะอายตนะ 6 สัตว์โลกจึงเดือดร้อน
[172] (เหมวตยักษ์ทูลถามดังนี้)
ความยึดถือที่ทำให้สัตว์โลกเดือดร้อนนั้นคืออะไร
ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องนำออกจากโลก
สัตว์โลกจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร
[173] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
กามคุณ 5 อันมีใจเป็นที่ 6 ซึ่งมีอยู่ในโลก
เราประกาศไว้ชัดเจนแล้ว
สัตว์โลกคลายความพอใจในกามคุณ 5 นี้ได้
ย่อมพ้นจากทุกข์ได้ ด้วยวิธีดังกล่าวนี้2

เชิงอรรถ :
1 อายตนะ 6 หมายถึงอายตนะภายใน 6 และอายตนะภายนอก 6 (ขุ.สุ.อ.1/171/240)
2 ดูเทียบ อภิ.ก. 37/510/309

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :539 }