เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 8. เมตตสูตร
เหล่าสัตว์ที่มีขนาดกายยาว ขนาดกายใหญ่ ขนาดกายปานกลาง
ขนาดกายเตี้ย ขนาดกายผอม หรือขนาดกายอ้วน
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[147] เหล่าสัตว์ที่เคยเห็นก็ดี เหล่าสัตว์ที่ไม่เคยเห็นก็ดี
เหล่าสัตว์ที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลก็ดี ภูตหรือสัมภเวสีก็ดี
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[148] ไม่ควรข่มเหง ไม่ควรดูหมิ่นกันและกันในทุกโอกาส
ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน
เพราะความโกรธและเพราะความแค้น
[149] ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณไปยังสรรพสัตว์
ดุจมารดาเฝ้าถนอมบุตรคนเดียวด้วยชีวิต ฉะนั้น
[150] อนึ่ง ควรแผ่เมตตาจิตชนิดไม่มีประมาณ
กว้างขวาง ไม่มีเวร ไม่มีศัตรูไปยังสัตว์โลกทั่วทั้งหมด
ทั้งชั้นบน ชั้นล่าง และชั้นกลาง
[151] ผู้แผ่เมตตาจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน
ควรตั้งสตินี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังไม่ง่วง
นักปราชญ์เรียกการอยู่ด้วยเมตตานี้ว่า พรหมวิหาร
[152] อนึ่ง ผู้แผ่เมตตาที่ไม่ยึดถือทิฏฐิ
มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ
กำจัดความยินดีในกามคุณได้แล้ว
ก็จะไม่เกิดในครรภ์อีกต่อไป
เมตตสูตรที่ 8 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :534 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 9. เหมวตสูตร
9. เหมวตสูตร
ว่าด้วยเหมวตยักษ์ทูลถามปัญหา
[153] (สาตาคิรยักษ์กล่าวดังนี้)
วันนี้เป็นวันอุโบสถ 15 ค่ำ
ราตรีที่เป็นทิพย์ปรากฏแล้ว
เราทั้งสองไปเฝ้าพระโคดมผู้เป็นศาสดา
ทรงพระนามสูงส่งกันดีกว่า
[154] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมเป็นผู้คงที่1 มีพระทัยสม่ำเสมอ
ในสัตว์โลกทุกจำพวกจริงหรือ
ทรงทำความดำริในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
ให้อยู่ในอำนาจได้จริงหรือ
[155] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมเป็นผู้คงที่ มีพระทัยสม่ำเสมอ
ในสัตว์โลกทุกจำพวกจริง
และทรงทำความดำริในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
ให้อยู่ในอำนาจได้จริง
[156] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมไม่ทรงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้จริงหรือ
ทรงสำรวมในสัตว์ทั้งหลายจริงหรือ
ทรงประพฤติห่างไกลจากกามคุณจริงหรือ
พระองค์ไม่ทรงละทิ้งฌานจริงหรือ

เชิงอรรถ :
1 พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มีพระทัยคงที่โดยอาการ 5 อย่าง คือ (1) เป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
(2) เป็นผู้คงที่เพราะสละแล้ว (3) เป็นผู้คงที่เพราะพ้นแล้ว (4) เป็นผู้คงที่เพราะข้ามได้แล้ว (5) เป็นผู้คง
ที่เพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้น ๆ ได้ (ขุ.สุ.อ.1/155/23) และดู ขุ.ม. (แปล) 29/38/139

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :535 }