เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 7. วสลสูตร
[114] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้เกิดในขัตติยตระกูล มีโภคะน้อย
แต่มีความมักใหญ่ใฝ่สูง ปรารถนาจะครองราชย์
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[115] บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะอันประเสริฐ
พิจารณาเห็นทางแห่งความเสื่อมในโลก ดังกล่าวมานี้แล้ว
ท่านย่อมคบโลกที่เจริญแน่นอน
ปราภวสูตรที่ 6 จบ

7. วสลสูตร
ว่าด้วยลักษณะคนเลว
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครอง
อันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ที่บ้าน
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ มีการจุดไฟเตรียมทำพิธีบูชาไฟ พระผู้มีพระภาคเสด็จ
เที่ยวบิณฑบาตมาตามลำดับตรอก ในกรุงสาวัตถี จนเสด็จเข้าไปถึงนิเวศน์ของ
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลทีเดียว จึงได้กล่าว
ดังนี้ว่า “หยุดอยู่แค่นั้นแหละ คนหัวโล้น หยุดอยู่แค่นั้นแหละ สมณะ หยุดอยู่แค่นั้นแหละ
คนเลว”1
เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ ท่านรู้จัก
คนเลว หรือธรรมที่ทำให้เป็นคนเลวหรือไม่”

เชิงอรรถ :
1 เหตุที่อัคคิกภารทวาชพราหมณ์พูดคำหยาบเช่นนี้ เพราะมีความเชื่อว่าการเห็นสมณะในเวลาที่มีงานมงคล
ถือว่าเป็นอวมงคล และมีความเชื่อว่า คนที่มีศีรษะโล้น เป็นคนไม่บริสุทธิ์ (ขุ.สุ.อ. 1/116/180)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :528 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 7. วสลสูตร
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ตอบว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าไม่รู้จักคนเลวหรือ
ธรรมที่ทำให้เป็นคนเลว ดีละ ถ้าท่านพระโคดมรู้ ก็จงแสดงธรรมให้ข้าพเจ้ารู้จัก
คนเลวหรือธรรมที่ทำให้เป็นคนเลวบ้าง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจะกล่าว”
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[116] คนมักโกรธ ชอบผูกอาฆาต ชอบลบหลู่ดูหมิ่น
เห็นผิดเป็นชอบ มีมายา
พึงทราบว่าเป็นคนเลว1
[117] คนผู้ชอบเบียดเบียนสัตว์ทุกจำพวกในโลกนี้
ไม่มีความเอ็นดูในเพื่อนมนุษย์และสัตว์อื่น
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[118] คนผู้ชอบทำลายชีวิตผู้อื่น เที่ยวปล้นสะดม
ถูกประณามว่าเป็นโจรปล้นฆ่าชาวบ้านร้านตลาด
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[119] คนเที่ยวลักขโมยทรัพย์สินเงินทอง
ที่เจ้าของหวงแหนไม่ได้ให้ ในบ้านหรือในป่าก็ตาม
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[120] คนกู้หนี้ยืมสินเขามาแล้ว
ถูกทวงกลับกล่าวว่า ไม่ได้ยืม หลบหนีไปเสีย
พึงทราบว่าเป็นคนเลว

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.ป. (แปล) 31/150/229

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :529 }