เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 6. ปราภวสูตร
[93] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ 1
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ 2 ว่าเป็นอย่างไร
[94] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนที่มีอสัตบุรุษเป็นที่รัก ไม่ทำสัตบุรุษให้เป็นที่รัก
ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[95] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ 2
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ 3 ว่าเป็นอย่างไร
[96] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้ชอบหลับอยู่เสมอ ชอบสมาคม1
ไม่ขยันหมั่นเพียร เกียจคร้าน โกรธง่าย
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[97] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ 3
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ 4 ว่าเป็นอย่างไร

เชิงอรรถ :
1 ชอบสมาคม หมายถึงชอบคลุกคลีและพูดคุยในเรื่องไร้สาระ (ขุ.สุ.อ. 1/96/173)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :524 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 6. ปราภวสูตร
[98] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้มีความสามารถเลี้ยงตนและผู้อื่นได้
แต่ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่ชรา ผู้ผ่านวัยหนุ่มวัยสาวแล้ว
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[99] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ 4
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ 5 ว่าเป็นอย่างไร
[100] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้กล่าวมุสาวาท หลอกลวงสมณะหรือพราหมณ์
หรือแม้กระทั่งวณิพกยาจกอื่น ๆ
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[101] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ 5
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ 6 ว่าเป็นอย่างไร
[102] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้มีทรัพย์มาก มีเงินทองของกินเหลือเฟือ
กินของอร่อยเพียงคนเดียว1
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

เชิงอรรถ :
1 กินของอร่อยเพียงคนเดียว ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้ตระหนี่ลาภกินโดยไม่แบ่งให้แม้กระทั่งบุตรและภรรยา (ขุ.สุ.อ.
1/102/175)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :525 }