เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 3. ขัคควิสาณสูตร
บุคคลเมื่อรังเกียจความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[42] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปล่งอุทานดังนี้)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง 4 ทิศ ไม่ขัดเคือง
ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้1
ครอบงำอันตรายทั้งหลาย และไม่หวาดเสียว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[43] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
แม้บรรพชิตพวกหนึ่ง และคฤหัสถ์ที่กำลังครองเรือน
สงเคราะห์ได้ยาก2
บุคคลพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยทั้งในผู้อื่นและในบุตร
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[44] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้กล้าหาญ
ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว3
ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว
เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
1 ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ หมายถึงยินดีปัจจัยตามที่ได้(ยถาลาภสันโดษ) ยินดีตามกำลัง(ยถาพลสันโดษ)
ยินดีตามสมควร(ยถาสารุปปสันโดษ) เช่นได้จีวรไม่ว่าจะหยาบ ละเอียด เศร้าหมอง ประณีต คงทน หรือ
เก่าก็ตาม ก็ยินดีด้วยสันโดษทั้ง 3 นั้น (ขุ.สุ.อ. 1/42/82, ขุ.จู.อ. 128/117)
2 สงเคราะห์ได้ยาก หมายถึงเป็นผู้ถูกความไม่สันโดษครอบงำ (ขุ.สุ.อ. 1/43/84)
3 เครื่องหมายคฤหัสถ์ คือ ผม หนวด ผ้าขาว เครื่องประดับ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ สตรี บุตร ทาส
เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. 1/44/85)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :509 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 3. ขัคควิสาณสูตร
[45] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี1 เป็นนักปราชญ์
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว
พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด
[46] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่พระองค์เดียว
และเหมือนช้างมาตังคะละทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น2
[47] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
เราสรรเสริญสหายสัมปทาโดยแท้
บุคคลควรคบสหายผู้ประเสริฐสุด (หรือ) ผู้เสมอกัน
ถ้าบุคคลไม่ได้สหายเหล่านี้ พึงเป็นผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[48] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลเห็นกำไลทอง 2 วง อันสุกปลั่ง
ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี กระทบกันอยู่ที่ข้อมือแล้ว3
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 4 หน้า 135 ในเล่มนี้
2 ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) 5/464/355, ขุ.ชา. (แปล) 27/17-19/303 และดูธรรมบทข้อ 328-329 หน้า
135-136 ในเล่มนี้
3 หมายถึงเกิดความเบื่อหน่ายด้วยพิจารณาเห็นว่าคนอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก ย่อมกระทบกระะทั่งกันได้
ด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ ดุจกำไลมือกระทบกัน (ขุ.สุ.อ. 1/48/91) และดู ขุ.จู. (แปล) 30/134/438

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :510 }