เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [1. อุรควรรค] 1. อุรคสูตร
[3] ภิกษุตัดตัณหาที่ท่วมทับสัตว์โลก เป็นไปรวดเร็ว
ให้เหือดแห้งไปทีละน้อย ๆ จนหมดสิ้น
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[4] ภิกษุผู้กำจัดมานะได้หมดสิ้น
เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดสะพานไม้อ้อที่อ่อนกำลังให้ทะลายไปหมดสิ้น
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[5] ภิกษุผู้ใช้ปัญญาค้นคว้าอยู่
ไม่พบแก่นสารในภพทั้งหลาย1
เหมือนพราหมณ์ค้นหาดอกมะเดื่อบนต้นไม่พบ ฉะนั้น
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[6] ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสกำเริบภายในจิต
และล่วงพ้นความเจริญและความเสื่อมมีประการต่าง ๆ ได้
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[7] ภิกษุผู้ระงับวิตกทั้งหลายได้
กำหนดวิตกทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในตนได้ด้วยดี
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[8] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
ล่วงพ้นปปัญจธรรม2ได้ทั้งหมด
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ไม่พบแก่นสารในภพทั้งหลาย หมายถึงไม่พบนิจจภาวะ(ภาวะเที่ยง) หรืออัตตภาวะ(ภาวะที่เป็นอัตตา)
ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญีภพ อสัญญีภพ เนวสัญญีนาสัญญีภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ และ
ปัญจโวการภพ (ขุ.สุ.อ. 1/5/18)
2 ปปัญจธรรม หมายถึงกิเลสเครื่องเนิ่นช้า มี 3 อย่าง คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ.1/8/20)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :500 }