เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [4. จตุกกนิบาต] 13. โลกสูตร
นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกภิกษุเช่นนั้น ผู้มีความเพียร
ละกิเลสอยู่อย่างนี้ ประพฤติตนสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน
ผู้ศึกษาข้อปฏิบัติที่สมควรแก่ความสงบใจ1
มีสติทุกเมื่อว่า ‘ผู้อุทิศกายและใจต่อเนื่อง’
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สัมปันนสีลสูตรที่ 12 จบ

13. โลกสูตร2
ว่าด้วยโลก
[112] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้
พระอรหันต์กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตตรัสรู้โลก3แล้ว ตถาคตพรากจากโลก ตถาคตตรัสรู้
เหตุเกิดแห่งโลก ตถาคตละเหตุเกิดแห่งโลกแล้ว ตถาคตตรัสรู้ความดับแห่งโลก
ตถาคตทำให้แจ้งความดับแห่งโลก ตถาคตตรัสรู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลก
ตถาคตบำเพ็ญข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลกแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ผู้ศึกษาข้อปฏิบัติที่สมควรแก่ความสงบใจ หมายถึงผู้ปฏิบัติบำเพ็ญให้เกิดญาณทัสสนวิสุทธิอันเป็นข้อ
ปฏิบัติสมควรแก่อริยมรรค กล่าวคือ เจโตสมถะ เพราะสงบระงับกิเลสได้สิ้นเชิง (ขุ.อิติ.อ. 111/410)
2 ดูเทียบ ที.ปา. 11/188/117, องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/23/37-39
3 โลก มีความหมายหลายนัย แต่ในที่นี้หมายถึงทุกขอริยสัจ (องฺ.จตุกฺก.อ. 2/23/301, ขุ.อิติ.อ. 112/410)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :495 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [4. จตุกกนิบาต] 13. โลกสูตร
เพราะตถาคตตรัสรู้รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ1 ธรรมารมณ์
ที่ได้รู้แจ้ง ที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ถึง แสวงหา ตรองตามด้วยใจทั้งหมด ฉะนั้น
ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
เพราะตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในราตรีใด และปรินิพพานด้วย
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุในราตรีใด ในระหว่างนี้ ย่อมภาษิต กล่าว แสดงออก
ซึ่งคำใด คำนั้นทั้งหมดเป็นจริงอย่างนั้นแล ไม่เป็นอย่างอื่น ฉะนั้น ชาวโลกจึง
เรียกว่า ‘ตถาคต’
เพราะตถาคตกล่าวอย่างใด (ยถาวาที) ก็ทำอย่างนั้น (ตถาการี) ทำอย่างใด
(ยถาการี) ก็กล่าวอย่างนั้น (ตถาวาที) ฉะนั้น ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
ภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เห็นถ่องแท้ แผ่อำนาจไปในโลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา
และมนุษย์ ฉะนั้น ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลใดรู้แจ้งโลกทั้งปวงตามความเป็นจริงทั้งหมด
พรากจากโลกทั้งปวง ไม่มีกิเลสสั่งสมอยู่ในโลกทั้งปวง
บุคคลนั้นแลครอบงำอารมณ์ได้ทั้งหมด

เชิงอรรถ :
1 รูปที่ได้เห็น หมายถึงรูปายตนะ (อายตนะคือรูป) เสียงที่ได้ฟัง หมายถึงสัททายตนะ (อายตนะคือเสียง)
อารมณ์ที่ได้ทราบ หมายถึงคันธายตนะ (อายตนะคือกลิ่น) รสายตนะ (อายตนะคือรส) โผฏฐัพพายตนะ
(อายตนะคือโผฏฐัพพะ)
อารมณ์ทั้ง 3 นี้ ชื่อว่าอารมณ์ที่ได้ทราบ เพราะเป็นสภาวะที่เข้ามากระทบจมูก ลิ้นหรือกายแล้วเท่านั้น
จึงกำหนดได้ (องฺ.จตุกฺก.อ. 2/23/301, ขุ.อิติ.อ. 112/413)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :496 }