เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [4. จตุกกนิบาต] 6. ตัณหุปปาทสูตร
6. ตัณหุปปาทสูตร1
ว่าด้วยที่เกิดตัณหา
[105] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาเมื่อเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ย่อมเกิดขึ้นในที่เกิดตัณหา 4 อย่างนี้
ที่เกิดตัณหา 4 อย่าง อะไรบ้าง คือ
1. ตัณหาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะจีวรเป็นเหตุ
2. ตัณหาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ
3. ตัณหาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะเสนาสนะเป็นเหตุ
4. ตัณหาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะสมบัติและวิบัติเป็นเหตุ
ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาเมื่อเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ย่อมเกิดขึ้นในที่เกิดตัณหา 4 อย่างนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลผู้มีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น
ภิกษุรู้โทษนี้ รู้ตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น มีสติสัมปชัญญะอยู่
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ตัณหุปปาทสูตรที่ 6 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/9/15, ที.ปา. 11/311/204, ขุ.ม. (แปล) 29/191/540, ขุ.จู. (แปล)
30/107/364, อภิ.วิ. (แปล) 35/939/458/589 และดูอิติวุตตกะ ข้อ 15 หน้า 359 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :484 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [4. จตุกกนิบาต] 7. สพรหมกสูตร
7. สพรหมกสูตร1
ว่าด้วยมารดาบิดาเป็นพรหมของบุตร
[106] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่า
มีพรหม บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่ามีบุรพเทพ
บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่ามีบุรพาจารย์ บุตรของ
สกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่ามีอาหุไนยบุคคล
ภิกษุทั้งหลาย คำว่า พรหม นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา คำว่า บุรพเทพ นี้เป็น
ชื่อของมารดาบิดา คำว่า บุรพาจารย์ นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา คำว่า อาหุไนย-
บุคคล นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา2 ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดาเป็นผู้มี
อุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์ประชา
ท่านเรียกว่าพรหม บุรพเทพ บุรพาจารย์
และอาหุไนยบุคคลของบุตรทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 องฺ.ติก. (แปล) 20/31/183, องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/63/107, ขุ.ชา. (แปล) 28/181-183/84
2 มารดาบิดา ชื่อว่า พรหม เพราะมีพรหมวิหารธรรม 4 ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ชื่อว่า
บุรพเทพ เพราะเป็นดุจเทพผู้มีพรหมวิหารธรรม ไม่คำนึงความผิดที่บุตรทำไป พร้อมที่จะให้อภัย มุ่งหวัง
แต่ความเจริญแก่บุตร นำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาแก่บุตร ชื่อว่า บุรพาจารย์ เพราะเป็นอาจารย์
คนแรกที่สอนลูกให้เรียนรู้การนั่ง การยืน การเดิน การนอน การเคี้ยว การกิน รวมทั้งสอนให้รู้จักพูดและ
รู้จักอะไรควร อะไรมิควร ชื่อว่า อาหุไนยบุคคล เพราะเป็นผู้ควรแก่ปฏิการคุณที่บุตรพึงทำตอบแทน เช่น
การปรนนิบัติท่านด้วยอาหารเครื่องนุ่งห่ม (องฺ.ติก.อ. 2/111/111-112, ขุ.อิติ.อ. 106/379-384)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :485 }