เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 5. ปัญจมวรรค 6. กามูปปัตติสูตร
6. กามูปปัตติสูตร
ว่าด้วยผู้ยังเสพกามไม่สามารถล่วงสังสารทุกข์ได้
[95] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย การเสพกาม 3 ประการนี้
การเสพกาม 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. การเสพกามของสัตว์ผู้มีความใคร่ปรากฏอยู่เป็นนิตย์1
2. การเสพกามของเทวดาผู้ยินดีในกามสมบัติที่ตนเนรมิต2
3. การเสพกามของเทวดาผู้ยินดีในกามสมบัติที่เทวดาอื่นเนรมิตให้3
ภิกษุทั้งหลาย การเสพกาม 3 ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สัตว์ผู้มีความใคร่ปรากฏอยู่เป็นนิตย์
เทวดาผู้ยินดีในกามสมบัติที่ตนเนรมิต
เทวดาผู้ยินดีในกามสมบัติที่เทวดาอื่นเนรมิตให้
และสัตว์เหล่าอื่นที่เสพกามอยู่เป็นนิตย์
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น
บัณฑิตรู้โทษในการเสพกามทั้งหลายนี้แล้ว
ควรละเว้นกามทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ทั้งหมด

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงมนุษย์ และเทวดาตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา จนถึงชั้นดุสิต (ขุ.อิติ.อ. 95/340)
2 หมายถึงเทวดาชั้นนิมมานรดี (ขุ.อิติ.อ. 95/340)
3 หมายถึงเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี (ขุ.อิติ.อ. 95/341)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :469 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 5. ปัญจมวรรค 7. กามโยคสูตร
บัณฑิตทั้งหลาย ตัดกระแสตัณหาที่กำหนัดยินดี
ในปิยรูปสาตรูป1ที่คนทั่วไปล่วงพ้นได้ยากขาดสิ้นแล้ว
ชื่อว่าดับกิเลสได้สิ้นเชิง ล่วงพ้นทุกข์ได้ทั้งสิ้น
บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นแจ้งอริยสัจ
จบเวท รู้สิ่งทั้งปวงโดยชอบ
ย่อมไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก
เพราะรู้ยิ่งถึงภาวะสิ้นสุดการเกิด
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
กามูปปัตติสูตรที่ 6 จบ

7. กามโยคสูตร
ว่าด้วยผู้ประกอบด้วยกามไปสู่วัฏฏสงสาร
[96] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบตนด้วยกามโยคะ2 ประกอบตนด้วยภวโยคะ3
ชื่อว่าเป็นอาคามี4 คือยังต้องกลับมาเกิดในกามภูมิอีก
บุคคลผู้พรากตนออกจากกามโยคะ แต่ยังประกอบตนด้วยภวโยคะ ชื่อว่าเป็น
อนาคามี5คือเป็นผู้ไม่ต้องกลับมาเกิดในกามภูมิอีก

เชิงอรรถ :
1 ปิยรูปสาตรูป หมายถึงรูปเป็นต้นที่น่ารักและน่าพอใจด้วยอำนาจสุขเวทนา (ขุ.อิติ.อ.95/341)
2 กามโยคะ หมายถึงราคะที่ประกอบด้วยกามคุณ 5 (กามราคะ) (ขุ.อิติ.อ.96/342)
3 ภวโยคะ หมายถึงความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในรูปภพและอรูปภพ อีกอย่างหนึ่ง หมายถึงราคะ
ที่ประกอบด้วยสัสสตทิฏฐิ (ขุ.อิติ.อ.96/342)
4 อาคามี หมายถึงผู้อยู่ในพรหมโลก สามารถมาเกิดยังมนุษยโลกได้ (ขุ.อิติ.อ.96/342)
5 อนาคามี หมายถึงผู้ไม่กลับมาเกิดในกามโลกอีก (ขุ.อิติ.อ.96/342)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :470 }