เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 4. จตุตถวรรค 6. อสุภานุปัสสีสูตร
6. อสุภานุปัสสีสูตร
ว่าด้วยการพิจารณากายให้เห็นเป็นของไม่งาม
[85] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพิจารณาเห็นความไม่งามในกายอยู่เสมอเถิด
จงหมั่นเจริญอานาปานสติ มุ่งเฉพาะอารมณ์ที่เป็นภายในของพวกเธอ จงพิจารณา
เห็นสภาวะไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวงอยู่เสมอเถิด เมื่อเธอทั้งหลายพิจารณาเห็นความ
ไม่งามในกายอยู่เสมอ ย่อมละราคานุสัยในธาตุที่สวยงามได้ เมื่อเธอทั้งหลาย
หมั่นเจริญอานาปานสติ มุ่งเฉพาะอารมณ์ที่เป็นภายในของพวกเธอ มิจฉาวิตกภายนอก
ที่เป็นฝ่ายแห่งความทุกข์ก็จะไม่มี เมื่อเธอทั้งหลายพิจารณาเห็นสภาวะไม่เที่ยงในสังขาร
ทั้งปวงอยู่เสมอ ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้มีความเพียรพิจารณาเห็นความไม่งามในกาย
ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
พิจารณาเห็นภาวะที่สงบระงับสังขารทั้งปวงตลอดกาล
ภิกษุนั้นแล เป็นผู้เห็นโดยชอบ
เพราะเหตุที่น้อมจิตไปในนิพพานธาตุนั้น
จึงชื่อว่าสำเร็จอภิญญา 6 ประการ
เป็นผู้สงบ ล่วงพ้นโยคะได้แล้ว เป็นมุนีแท้จริง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อสุภานุปัสสีสูตรที่ 6 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :452 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 4. จตุตถวรรค 7. ธัมมานุธัมมปฏิปันนสูตร
7. ธัมมานุธัมมปฏิปันนสูตร
ว่าด้วยผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
[86] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อกล่าวว่า ‘สภาวะที่สมควรใดเป็นเหตุให้บุคคลเป็นผู้
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมด้วยการพยากรณ์ สภาวะที่สมควรนี้ชื่อว่าเป็นธรรมที่
สมควรแก่ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม’ ชื่อว่ากล่าวแต่เรื่องที่เป็นธรรมเท่านั้น
ไม่กล่าวเรื่องที่ไม่เป็นธรรม เมื่อตรึก ชื่อว่าตรึกถึงแต่วิตกที่เป็นธรรมเท่านั้น ไม่ตรึก
ถึงวิตกที่ไม่เป็นธรรม หรือเว้นกิริยาทั้งสองนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ
มีสัมปชัญญะอยู่”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุมีธรรมเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในธรรม
พิจารณาใคร่ครวญถึงธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่
ย่อมไม่เสื่อมจากสัทธรรม1
ภิกษุเมื่อยืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ตาม
ควบคุมจิตให้สงบอยู่ภายในได้
ย่อมบรรลุความสงบแท้จริง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ธัมมานุธัมมปฏิปันนสูตรที่ 7 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูธรรมบทข้อ 364 หน้า 147 ในเล่มนี้ และดู ขุ.เถร. (แปล) 26/1035/209

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :453 }