เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 3. ตติยวรรค 7. สุขปัตถนาสูตร
7. สุขปัตถนาสูตร
ว่าด้วยผู้ปรารถนาความสุข
[76] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตเมื่อปรารถนาความสุข 3 ประการนี้ พึงรักษาศีล
ความสุข 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. เมื่อปรารถนาความสุขว่า “ขอความสรรเสริญ จงมาถึงเรา” พึงรักษาศีล
2. เมื่อปรารถนาความสุขว่า “ขอโภคสมบัติทั้งหลาย จงเกิดขึ้นแก่เรา”
พึงรักษาศีล
3. เมื่อปรารถนาความสุขว่า “หลังจากตายแล้ว เราจักไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์” พึงรักษาศีล
ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตเมื่อปรารถนาความสุข 3 ประการนี้แล พึงรักษาศีล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
นักปราชญ์ เมื่อปรารถนาความสุข 3 ประการ คือ
ความสรรเสริญ การได้ความปลื้มใจ1
และการตายไปเกิดในสวรรค์ พึงรักษาศีล2
บุคคลแม้ไม่ทำบาป แต่ยังคบคนทำบาป
ก็ต้องถูกระแวงสงสัยในบาปเรื่อยไป
และได้รับคำตำหนิติเตียนมากมาย

เชิงอรรถ :
1 ความปลื้มใจ ในที่นี้หมายถึงทรัพย์สมบัติ (ขุ.อิติ.อ. 76/291)
2 ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) 26/609/445

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :436 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 3. ตติยวรรค 7. สุขปัตถนาสูตร
บุคคลทำคนเช่นใดให้เป็นมิตร
และคบสนิทคนเช่นใด เขาก็เป็นเช่นคนนั้น
เพราะการอยู่ด้วยกันเป็นเช่นนั้น
คนชั่วเมื่อมาคบมาเกี่ยวข้องกับคนดีทั่วไป
หรือคนดีหลงไปคบไปเกี่ยวข้องเข้า
ย่อมพลอยทำให้คนดีแปดเปื้อนบาปไปด้วย
เหมือนลูกศรอาบยาพิษ ถูกยาพิษแปดเปื้อนแล้ว
ย่อมทำลายแล่งลูกศรที่สะอาดให้แปดเปื้อนไปด้วย ฉะนั้น
เพราะกลัวการแปดเปื้อนบาป
ผู้มีปัญญา จึงไม่คบคนชั่วเป็นมิตรเลย
ใบหญ้าคาที่คนนำมาใช้ห่อปลาเน่า
ก็พลอยเหม็นเน่าส่งกลิ่นคลุ้งตามไปด้วย ฉันใด
การคบคนพาล ก็ฉันนั้น
ใบไม้ทั้งหลายที่คนนำมาห่อกฤษณา
ก็พลอยมีกลิ่นหอมฟุ้งตามไปด้วย ฉันใด
การคบบัณฑิต ก็ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น บัณฑิตรู้ผลดีผลเสียที่จะเกิดแก่ตน
ดุจใบไม้ที่ใช้ห่อแล้ว ไม่ควรคบอสัตบุรุษ
ควรคบแต่สัตบุรุษเท่านั้น
เพราะว่า อสัตบุรุษย่อมชักนำให้ตกนรก
ส่วนสัตบุรุษย่อมชักนำให้เข้าถึงสุคติ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สุขปัตถนาสูตรที่ 7 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :437 }