เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 3. ตติยวรรค 4. สันตตรสูตร
3. นิโรธธาตุ1เป็นที่สลัดละธรรมชาติที่เกิดแล้ว ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัย
กันและกันเกิดขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย ธาตุเป็นที่สลัดออก 3 ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้มีความเพียรรู้ชัดธาตุเป็นที่สลัดกามออก
และธาตุเป็นเหตุล่วงพ้นรูปธรรมแล้ว
สัมผัสภาวะที่สงบระงับสังขารทั้งปวงตลอดกาล
ภิกษุนั้นแล เป็นผู้มีความเห็นชอบ
เพราะเหตุที่น้อมจิตไปในนิพพานธาตุนั้น
จึงชื่อว่าสำเร็จอภิญญา 6 ประการ
เป็นผู้สงบ ล่วงพ้นโยคะได้แล้ว เป็นมุนีแท้จริง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
นิสสรณิยสูตรที่ 3 จบ

4. สันตตรสูตร
ว่าด้วยนิโรธสงบยิ่งกว่าอรูปธรรม
[73] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อรูปธรรม2สงบยิ่งกว่ารูปธรรม3 นิโรธ4สงบยิ่งกว่าอรูปธรรม”

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 3 หน้า 388 ในเล่มนี้
2 อรูปธรรม ในที่นี้หมายถึงอรูปภพ (ขุ.อิติ.อ.73/252)
3 รูปธรรม ในที่นี้หมายถึงรูปภพ (ขุ.อิติ.อ.73/252)
4 นิโรธ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อิติ.อ. 73/252)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :430 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 3. ตติยวรรค 5. ปุตตสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สัตว์เหล่าใดเข้าถึงรูปภพ
และสัตว์เหล่าใดดำรงอยู่ในอรูปภพ
สัตว์เหล่านั้นเมื่อยังไม่รู้แจ้งนิโรธ จะต้องกลับมาเกิดอีก
ส่วนสัตว์เหล่าใดกำหนดรู้รูปธาตุได้แล้ว
ไม่ติดอยู่ในอรูปธาตุ น้อมจิตอยู่ในนิโรธ
สัตว์เหล่านั้นย่อมล่วงพ้นมัจจุราชไปได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสัมผัสอมตธาตุที่ไร้อุปธิด้วยนามกาย
ทรงรู้แจ้งประจักษ์ถึงเหตุแห่งความสลัดคืนอุปธิ
ผู้หาอาสวะมิได้ ทรงแสดงบทที่ไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากธุลีไว้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สันตตรสูตรที่ 4 จบ

5. ปุตตสูตร
ว่าด้วยบุตร
[74] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุตร 3 จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุตร 3 จำพวกไหนบ้าง คือ
1. อติชาตบุตร (บุตรที่มีคุณสมบัติสูงกว่ามารดาบิดา)
2. อนุชาตบุตร (บุตรที่มีคุณสมบัติเสมอด้วยมารดาบิดา)
3. อวชาตบุตร (บุตรที่มีคุณสมบัติต่ำกว่ามารดาบิดา)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :431 }