เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 3. ตติยวรรค 2. สัมมาทิฏฐิกสูตร
บุคคลในโลกนี้ตั้งจิตไว้ผิด กล่าววาจาผิด
ทำการงานทางกายที่ผิด มีความขวนขวายน้อย1
ทำกรรมอันไม่เป็นบุญไว้ในชีวิตอันน้อยในโลกนี้
เขามีปัญญาทราม หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในนรก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มิจฉาทิฏฐิกสูตรที่ 1 จบ

2. สัมมาทิฏฐิกสูตร
ว่าด้วยผู้มีความเห็นชอบ
[71] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต
ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
คำที่ว่า ‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต
ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นชอบ หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ นั้น เราหาได้กล่าวเพราะ
รับฟังมาจากสมณะหรือพราหมณ์อื่น ๆ ไม่
ภิกษุทั้งหลาย ที่แท้แล้ว เรารู้เอง เห็นเอง ทราบเองทั้งนั้น จึงกล่าว
คำนี้ว่า ‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าว

เชิงอรรถ :
1 มีความขวนขวายน้อย หมายถึงไม่ทำประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น (ขุ.อิติ.อ. 70/251)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :428 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 3. ตติยวรรค 3. นิสสรณิยสูตร
ร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลในโลกนี้ ตั้งจิตไว้ชอบ กล่าววาจาชอบ
ทำการงานทางกายที่ชอบ มีความขวนขวายมาก
ได้ทำกรรมอันเป็นบุญไว้ในชีวิตอันน้อยในโลกนี้
เขามีปัญญา หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสวรรค์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สัมมาทิฏฐิกสูตรที่ 2 จบ

3. นิสสรณิยสูตร
ว่าด้วยธาตุที่มีคุณสมบัติสลัดออก
[72] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธาตุเป็นที่สลัดออก 3 ประการนี้
ธาตุเป็นที่สลัดออก 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. เนกขัมมธาตุ1เป็นที่สลัดละกามทั้งหลาย
2. อรูปธาตุ2เป็นที่สลัดละรูปธรรมทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 เนกขัมมธาตุ หมายถึงรูปฌาน (ขุ.อิติ.อ. 72/251)
2 อรูปธาตุ หมายถึงอรูปฌาน (ขุ.อิติ.อ.72/251) และดูเทียบเชิงอรรถที่ 2 หน้า 388

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :429 }