เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 8. โมเนยยสูตร
8. โมเนยยสูตร
ว่าด้วยความเป็นมุนี
[67] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมุนี 3 ประการนี้
ความเป็นมุนี 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ความเป็นมุนีทางกาย 2. ความเป็นมุนีทางวาจา
3. ความเป็นมุนีทางใจ
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมุนี 3 ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้ที่เป็นมุนีทางกาย เป็นมุนีทางวาจา
เป็นมุนีทางใจ ไม่มีอาสวะ
เป็นมุนี ถึงพร้อมด้วยความเป็นมุนี
บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า เป็นผู้ละได้ทุกอย่าง1
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โมเนยยสูตรที่ 8 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ที.ปา 11/305/196, องฺ.ติก. (แปล) 20/123/369, ขุ.ม. (แปล) 29/14/69, 149/400,
ขุ.จู. (แปล) 30/21/128

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :423 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 9. ปฐมราคสูตร
9. ปฐมราคสูตร
ว่าด้วยการละราคะ สูตรที่ 1
[68] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดยังละราคะ โทสะ โมหะไม่ได้ บุคคลนี้เราเรียกว่า
ถูกมาร1ผูกไว้ สวมบ่วงมารไว้ และถูกมารผู้มีบาปทำได้ตามความปรารถนา
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว บุคคลนี้เราเรียกว่า
ไม่ถูกมารผูกไว้ ไม่สวมบ่วงมารไว้ และไม่ถูกมารผู้มีบาปทำได้ตามความปรารถนา”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
เรียกบุคคลผู้ละราคะ โทสะ และอวิชชาได้แล้วว่า
เป็นคนหนึ่งในบรรดาท่านผู้อบรมตนแล้ว
เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้ไปแล้วอย่างนั้น เป็นผู้ตรัสรู้
เป็นผู้ล่วงเวรและภัย เป็นผู้ละกิเลสทั้งปวงได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมราคสูตรที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 มารในที่นี้หมายถึงกิเลสมาร (ขุ.อิติ.อ. 68/246)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :424 }