เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 6. สุจริตสูตร
6. สุจริตสูตร
ว่าด้วยสุจริต
[65] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย สุจริต 3 ประการนี้
สุจริต 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. กายสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยกาย)
2. วจีสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยวาจา)
3. มโนสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยใจ)
ภิกษุทั้งหลาย สุจริต 3 ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลผู้มีปัญญา ละกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริตและอกุศลกรรมอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยโทษได้แล้ว
ไม่ทำอกุศลกรรมไว้ ทำแต่กุศลกรรมไว้มากมาย
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสวรรค์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สุจริตสูตรที่ 6 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :421 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 7. โสเจยยสูตร
7. โสเจยยสูตร
ว่าด้วยความสะอาด
[66] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ความสะอาด 3 ประการนี้
ความสะอาด 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ความสะอาดกาย 2. ความสะอาดวาจา
3. ความสะอาดใจ
ภิกษุทั้งหลาย ความสะอาด 3 ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้มีกายสะอาด มีวาจาสะอาด
มีใจสะอาด ไม่มีอาสวะ
เป็นผู้สะอาด ถึงพร้อมด้วยความสะอาด
บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า เป็นผู้ล้างบาปได้1
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โสเจยยสูตรที่ 7 จบ

เชิงอรรถ :
1 องฺ.ติก. (แปล) 20/122/368

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :422 }