เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 2. จักขุสูตร
คือควรบำเพ็ญทาน ควรประพฤติธรรมสม่ำเสมอ
และควรเจริญเมตตาภาวนา
บัณฑิต ครั้นเจริญธรรม 3 ประการ
ที่เป็นเหตุให้เกิดสุขดังกล่าวมานี้แล้ว
ย่อมเข้าถึงโลกที่มีสุข ปราศจากการเบียดเบียนกัน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปุญญกิริยาวัตถุสูตรที่ 1 จบ

2. จักขุสูตร
ว่าด้วยจักษุ
[61] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย จักษุ 3 ประการนี้
จักษุ 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. มังสจักษุ (ตาเนื้อ)
2. ทิพพจักษุ (ตาทิพย์)
3. ปัญญาจักษุ (ตาคือปัญญา)
ภิกษุทั้งหลาย จักษุ 3 ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นอุดมบุรุษ
ได้ตรัสจักษุ 3 ประการนี้ คือ มังสจักษุ
ทิพพจักษุ และปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :416 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 3. อินทริยสูตร
ความเกิดขึ้นแห่งมังสจักษุ เป็นทางแห่งทิพพจักษุ
เมื่อใด ญาณคือปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยมเกิดขึ้น
เมื่อนั้น บุคคลย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
เพราะได้ปัญญาจักษุ1
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
จักขุสูตรที่ 2 จบ

3. อินทริยสูตร
ว่าด้วยอินทรีย์
[62] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ 3 ประการนี้
อินทรีย์ 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์2
2. อัญญินทรีย์3
3. อัญญาตาวินทรีย์4
ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ 3 ประการนี้แล”

เชิงอรรถ :
1 ที.ปา. 11/305/196, อภิ.ก. 37/374/214
2 อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ หมายถึงอินทรีย์ของผู้ปฏิบัติด้วยมุ่งว่า ‘เราจักรู้อมตบท (นิพพาน) หรือ
อริยสัจธรรม 4 ที่ยังมิได้รู้ ยังมิได้บรรลุ’ คำนี้เป็นชื่อของโสดาปัตติมัคคญาณ (ขุ.อิติ.อ. 62/237)
3 อัญญินทรีย์ หมายถึงอินทรีย์ หรือปัญญาที่รู้โดยข้ามพ้นแดนมิจฉาทิฏฐิแล้วกำหนดรู้อริยสัจ 4 มีทุกข์
เป็นต้น เช่นเดียวกับโสดาปัตติมัคคญาณ แต่มีลักษณะรู้ชัดกว่ากันตามลำดับ คำนี้เป็นชื่อของญาณ 6
คือตั้งแต่โสดาปัตติผลญาณ ถึงอรหัตตมัคคญาณ (ขุ.อิติ.อ. 62/237-238)
4 อัญญาตาวินทรีย์ หมายถึงอินทรีย์ของท่านผู้รู้ทั่วถึงแล้ว กล่าวคือปัญญาของพระอรหันตขีณาสพ คำนี้
เป็นชื่อของอรหัตตผลญาณ (ขุ.อิติ.อ. 62/237-238)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :417 }