เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 1. ปฐมวรรค 5. ปฐมเอสนาสูตร
ภิกษุนั้นแล เป็นผู้มีความเห็นชอบ
เพราะเหตุที่หลุดพ้นได้เด็ดขาดในเวทนานั้น
จึงชื่อว่าสำเร็จอภิญญา 6 ประการ
เป็นผู้สงบ ล่วงพ้นโยคะได้แล้ว เป็นมุนีแท้จริง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยเวทนาสูตรที่ 4 จบ

5. ปฐมเอสนาสูตร
ว่าด้วยการแสวงหา สูตรที่ 1
[54] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา 3 ประการนี้
การแสวงหา 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. การแสวงหากาม 2. การแสวงหาภพ
3. การแสวงหาพรหมจรรย์1
ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา 3 ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
1 พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิพรหมจรรย์ กล่าวคือ ลัทธิที่มีความเชื่อว่า ‘โลกเที่ยง’ ‘โลกไม่เที่ยง’
เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. 54/224) และดู อภิ.วิ. (แปล) 35/919/575 ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :407 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [3. ติกนิบาต] 1. ปฐมวรรค 6. ทุติยเอสนาสูตร
สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีจิตตั้งมั่น
มีสติสัมปชัญญะ
ย่อมรู้ชัดการแสวงหา เหตุเกิดการแสวงหา
ธรรมเป็นที่ดับการแสวงหา1
และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความสิ้นสุดการแสวงหา
เพราะสิ้นการแสวงหาทั้งหลาย
ภิกษุจึงเป็นผู้หมดความหิว ปรินิพพานแล้ว2
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมเอสนาสูตรที่ 5 จบ

6. ทุติยเอสนาสูตร
ว่าด้วยการแสวงหา สูตรที่ 2
[55] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา 3 ประการนี้
การแสวงหา 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. การแสวงหากาม 2. การแสวงหาภพ
3. การแสวงหาพรหมจรรย์
ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา 3 ประการนี้แล

เชิงอรรถ :
1 ธรรมเป็นที่ดับการแสวงหา แยกเป็น 3 ระดับ คือ (1) ปฐมมรรค(โสดาปัตติมรรค) เป็นที่ดับการแสวงหา
พรหมจรรย์ (2) อนาคามิมรรค เป็นที่ดับการแสวงหากาม (3) อรหัตตมรรค เป็นที่ดับการแสวงหาภพ
(ขุ.อิติ.อ. 54/224) และดู อภิ.วิ. (แปล) 35/919/575 ประกอบ
2 ดูเทียบ ที.ปา. 11/305/194, อภิ.วิ. (แปล) 35/919/575

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :408 }