เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [2. ทุกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 3. วิชชาสูตร
3. วิชชาสูตร
ว่าด้วยวิชชา
[40] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อวิชชา(ความไม่รู้)เป็นหัวหน้าแห่งความถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรม
ทั้งหลาย อหิริกะ(ความไม่อายบาป) และอโนตตัปปะ(ความไม่กลัวบาป)เป็นไปตาม
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนวิชชา(ความรู้)เป็นหัวหน้าแห่งความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม
ทั้งหลาย หิริ(ความอายบาป) และโอตตัปปะ(ความกลัวบาป)เป็นไปตาม”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ทุคติ1อย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้และในโลกอื่น
ทั้งหมดมีอวิชชาเป็นมูลเหตุ
เกิดขึ้นด้วยความปรารถนาและความโลภ
อนึ่ง เพราะมีอวิชชาเป็นมูลเหตุ
คนจึงมีความปรารถนาชั่ว
ไม่มีหิริ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
เขาประสพ2บาปอยู่เสมอ
เพราะบาปนั้น เขาต้องไปเกิดในอบายแน่นอน
เพราะฉะนั้น ภิกษุ เมื่อละฉันทะ โลภะ และอวิชชาได้
ทำวิชชาให้เกิดขึ้น จึงละทุคติทั้งปวงได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
วิชชาสูตรที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 ทุคติ หมายถึงก่อเกิดทุกข์มีพยาธิ และมรณะ เป็นต้น หรือหมายถึงข้อประพฤติที่ถูกกิเลสมีราคะเป็นต้น
ครอบงำ ได้แก่ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต (ขุ.อิติ.อ. 40/176)
2 ประสพ ในที่นี้หมายถึงสั่งสมบาปมีกายทุจริต เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. 40/176)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :388 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [2. ทุกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 4. ปัญญาปริหีนสูตร
4. ปัญญาปริหีนสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เสื่อมจากปัญญา
[41] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่เสื่อมจากอริยปัญญา1 ชื่อว่าเสื่อมถึงที่สุด
สัตว์เหล่านั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ คับแค้น อึดอัด เร่าร้อนในปัจจุบัน หลังจากตายแล้ว
พึงหวังได้ทุคติ
ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่ไม่เสื่อมจากอริยปัญญา ชื่อว่าไม่เสื่อม สัตว์เหล่านั้น
ย่อมอยู่เป็นสุข ไม่คับแค้น ไม่อึดอัด ไม่เร่าร้อนในปัจจุบัน หลังจากตายแล้ว
พึงหวังได้สุคติ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ท่านจงดูชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกที่ยึดมั่นในนามรูป
เข้าใจว่า “นี้เท่านั้นเป็นจริง” เพราะเสื่อมจากปัญญา
ปัญญาที่เป็นเหตุให้ถึงความทำลายกิเลส
และปัญญาที่รู้ชัดความสิ้นไปแห่งชาติและภพโดยชอบ
เป็นปัญญาที่ประเสริฐในโลก
เทวดาและมนุษย์ ย่อมรักปรารถนาดี
ต่อพระสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
ผู้มีพระสติไพบูลย์ มีพระปัญญาผ่องใส
มีพระสรีระเป็นร่างกายสุดท้าย
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปัญญาปริหีนสูตรที่ 4 จบ

เชิงอรรถ :
1 อริยปัญญา หมายถึงวิปัสสนาปัญญาและมัคคปัญญา (ขุ.อิติ.อ. 41/176)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :389 }