เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [2. ทุกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 2. เทสนาสูตร
2. เทสนาสูตร
ว่าด้วยธรรมเทศนา
[39] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าโดยปริยาย
มี 2 ประการ
ธรรมเทศนา 2 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ธรรมเทศนาว่า “ท่านทั้งหลายจงเห็นบาปว่าเป็นบาป” นี้จัดเป็น
ธรรมเทศนาประการที่ 1
2. ธรรมเทศนาว่า “ท่านทั้งหลายครั้นเห็นบาปว่าเป็นบาปแล้ว จงเบื่อ
หน่ายคลายกำหนัด ปลดเปลื้องตนให้พ้นจากบาปนั้น” นี้จัดเป็น
ธรรมเทศนาประการที่ 2
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าโดยปริยาย
มี 2 ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
เธอจงดูธรรมเทศนา 2 ประการ
ที่ตถาคตพุทธเจ้าผู้ทรงอนุเคราะห์สัตว์ทุกหมู่เหล่า
ได้ทรงประกาศไว้แล้วโดยคำปริยาย
เธอทั้งหลายผู้ฉลาด จงพิจารณาเห็นบาป
จงคลายความยินดีในบาปนั้น
เธอทั้งหลายมีจิตคลายความยินดีในบาปนั้นแล้ว
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เทสนาสูตรที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :387 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [2. ทุกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 3. วิชชาสูตร
3. วิชชาสูตร
ว่าด้วยวิชชา
[40] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อวิชชา(ความไม่รู้)เป็นหัวหน้าแห่งความถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรม
ทั้งหลาย อหิริกะ(ความไม่อายบาป) และอโนตตัปปะ(ความไม่กลัวบาป)เป็นไปตาม
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนวิชชา(ความรู้)เป็นหัวหน้าแห่งความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม
ทั้งหลาย หิริ(ความอายบาป) และโอตตัปปะ(ความกลัวบาป)เป็นไปตาม”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ทุคติ1อย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้และในโลกอื่น
ทั้งหมดมีอวิชชาเป็นมูลเหตุ
เกิดขึ้นด้วยความปรารถนาและความโลภ
อนึ่ง เพราะมีอวิชชาเป็นมูลเหตุ
คนจึงมีความปรารถนาชั่ว
ไม่มีหิริ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
เขาประสพ2บาปอยู่เสมอ
เพราะบาปนั้น เขาต้องไปเกิดในอบายแน่นอน
เพราะฉะนั้น ภิกษุ เมื่อละฉันทะ โลภะ และอวิชชาได้
ทำวิชชาให้เกิดขึ้น จึงละทุคติทั้งปวงได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
วิชชาสูตรที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 ทุคติ หมายถึงก่อเกิดทุกข์มีพยาธิ และมรณะ เป็นต้น หรือหมายถึงข้อประพฤติที่ถูกกิเลสมีราคะเป็นต้น
ครอบงำ ได้แก่ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต (ขุ.อิติ.อ. 40/176)
2 ประสพ ในที่นี้หมายถึงสั่งสมบาปมีกายทุจริต เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. 40/176)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :388 }