เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [2. ทุกนิบาต] 1. ปฐมวรรค 7. อาตาปีสูตร
7. อาตาปีสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ไม่มีความเพียร
[34] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ จึงไม่ควรเพื่อตรัสรู้
ไม่ควรเพื่อนิพพาน ไม่ควรเพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีความเพียร มีโอตตัปปะนั้นแล จึงควรเพื่อตรัสรู้ ควรเพื่อ
นิพพาน ควรเพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ
เป็นผู้เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน
มักท้อแท้ ง่วงซึม ไม่มีหิริ
ไม่มีความเอื้อเฟื้อต่อธรรม เช่นนี้
ย่อมไม่ควรเพื่อจะบรรลุสัมโพธิ1อันยอดเยี่ยมได้
แต่ภิกษุผู้มีสติ มีปัญญารักษาตน
มีฌาน มีความเพียร
มีโอตตัปปะ และไม่ประมาท
ตัดสังโยชน์2ในชาติ ชราได้แล้ว
พึงบรรลุสัมโพธิอันยอดเยี่ยม ในอัตภาพนี้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อาตาปีสูตรที่ 7 จบ

เชิงอรรถ :
1 สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.อิติ.อ. 34/121)
2 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 34 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :381 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [2. ทุกนิบาต] 1. ปฐมวรรค 8. ปฐมนกุหนสูตร
8. ปฐมนกุหนสูตร1
ว่าด้วยการไม่หลอกลวง สูตรที่ 1
[35] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์นี้ มิใช่เพื่อจะลวงคน มิใช่เพื่อจะ
เกลี้ยกล่อมคน มิใช่เพื่ออานิสงส์คือลาภสักการะและการสรรเสริญ มิใช่เพื่อให้
คนรู้ว่า ‘คนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้’ แท้จริง ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์นี้ก็เพื่อ
สังวร2 และเพื่อปหานะ3เท่านั้น”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์อันเป็นธรรมกำจัดความจัญไร4
ทำให้สัตว์ถึงนิพพานเพื่อสังวร เพื่อปหานะ
ทางนี้ ท่านผู้ใหญ่ผู้แสวงหาคุณยิ่งใหญ่ดำเนินไปแล้ว
อนึ่ง เหล่าชนผู้ปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมนกุหนสูตรที่ 8 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/25/41
2 สังวร (การสำรวม) มี 5 อย่าง คือ (1) ปาติโมกขสังวร (สำรวมในปาติโมกข์) (2) สติสังวร (สำรวม
ด้วยสติ) (3) ญาณสังวร (สำรวมด้วยญาณ) (4) ขันติสังวร (สำรวมด้วยขันติ) (5) วิริยสังวร (สำรวม
ด้วยความเพียร) (ขุ.อิติ.อ. 35/126, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา 2/25/323-324)
3 ปหานะ (การละ) มี 5 อย่าง คือ (1) ตทังคปหานะ (ละกิเลสด้วยองค์นั้น ๆ) (2) วิกขัมภนปหานะ
(ละกิเลสด้วยการข่มไว้) (3) สมุจเฉทปหานะ (ละกิเลสด้วยตัดขาด) (4) ปฏิปัสสัทธิปหานะ (ละกิเลส
ด้วยสงบระงับ) (5) นิสสรณปหานะ (ละกิเลสด้วยสลัดออกได้) (ขุ.อิติ.อ. 35/126, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา
2/25/324-325)
4ความจัญไร มีความหมายหลายนัย คือ นัยที่ 1 หมายถึงอุปัททวะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต นัยที่ 2
หมายถึงอุปกิเลสมีตัณหาเป็นต้น นัยที่ 3 หมายถึงลัทธิเดียรถีย์ นัยที่ 4 หมายถึงวิจิกิจฉา (ขุ.อิติ.อ.
35/127)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :382 }