เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. เอกกนิบาต] 3. ตติยวรรค 7. เมตตาภาวนาสูตร
7. เมตตาภาวนาสูตร
ว่าด้วยการเจริญเมตตา
[27] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ1ที่มีอุปธิเป็นเหตุทั้งหมด ไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 แห่ง
เมตตาเจโตวิมุตติ เมตตาเจโตวิมุตติเท่านั้น แผ่แสงบริสุทธิ์ แผดเผากิเลส รุ่งเรือง
เหนือกว่าบุญกิริยาวัตถุทั้งหมดนั้น
แสงดาวทุกดวงรวมกัน ก็ยังสว่างไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 แห่งแสงจันทร์ แสงจันทร์
เท่านั้นกระจ่าง สว่างไสว รุ่งเรืองข่มแสงดาวทั้งหมดนั้น ฉันใด บุญกิริยาวัตถุที่มี
อุปธิเป็นเหตุทั้งหมดนั้นไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 แห่งเมตตาเจโตวิมุตติ ฉันนั้นเหมือนกัน
เมตตาเจโตวิมุตติเท่านั้น แผ่แสงบริสุทธิ์ แผดเผากิเลส รุ่งเรืองเหนือกว่าบุญกิริยา-
วัตถุทั้งหมดนั้น
เมื่ออากาศโปร่ง ปราศจากเมฆหมอกในสารทกาลในช่วงเดือนท้ายของฤดูฝน
ดวงอาทิตย์ลอยขึ้นอยู่บนอากาศ แผดแสงเจิดจ้า สว่างไสว ไล่ขจัดความมืดสลัวให้
หมดไป ฉันใด บุญกิริยาวัตถุที่มีอุปธิเป็นเหตุทั้งหมดนั้น ไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 แห่ง
เมตตาเจโตวิมุตติก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมตตาเจโตวิมุตติเท่านั้น แผ่แสงบริสุทธิ์
แผดเผากิเลส รุ่งเรืองเหนือกว่าบุญกิริยาวัตถุทั้งหมดนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ดาวประกายพรึกทั้งหลาย ต่างทอแสง
แพรวพราวระยิบระยับ ฉันใด บุญกิริยาวัตถุที่มีอุปธิเป็นเหตุทั้งหมด ไม่ถึงเสี้ยว
ที่ 16 แห่งเมตตาเจโตวิมุตติ ฉันนั้นเหมือนกัน เมตตาเจโตวิมุตติเท่านั้น แผ่แสง
บริสุทธิ์ แผดเผากิเลส รุ่งเรืองเหนือกว่าบุญกิริยาวัตถุทั้งหมดนั้น

เชิงอรรถ :
1 บุญกิริยาวัตถุ หมายถึงการบำเพ็ญบุญอันเป็นเหตุให้ได้อานิสงส์ มี 3 อย่าง คือ (1) ทานมัย (2) สีลมัย
(3) ภาวนามัย (ขุ.อิติ.อ. 27/102)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :372 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. เอกกนิบาต] 3. ตติยวรรค 7. เมตตาภาวนาสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้มีสติตั้งมั่น เจริญเมตตาแผ่ไปไม่มีประมาณ
พิจารณาเห็นธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ ย่อมมีสังโยชน์เบาบาง
หากบุคคลมีจิตไม่คิดประทุษร้ายสัตว์แม้ชีวิตเดียว
เจริญเมตตาเป็นประจำอยู่
ก็เป็นผู้ชื่อว่าฉลาดเพราะการเจริญเมตตานั้น
แต่พระอริยบุคคลผู้มีใจอนุเคราะห์สัตว์ทุกหมู่เหล่า
ชื่อว่าสั่งสมบุญไว้เป็นอันมาก
พระราชาผู้ทรงธรรมเช่นกับฤๅษี
ทรงชนะใจหมู่สัตว์ทั่วแผ่นดินด้วยราชธรรม
ทรงบูชายัญ คือ (สัสสเมธะ ปุริสเมธะ สัมมาปาสะ
วาชเปยยะ และนิรัคคฬะ)1 เสด็จเที่ยวไป

เชิงอรรถ :
1 ยัญ 5 นี้ เดิมทีเดียว คือราชสังคหวัตถุ(หลักสงเคราะห์ของพระราชา) มีดังนี้ (1) สัสสเมธะ (ฉลาดในการ
บำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร) (2) ปุริสเมธะ (ฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ)
(3) สัมมาปาสะ (ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ) (4) วาชเปยยะ (ความมี
วาจาอันดูดดื่มน้ำใจ) (5) นิรัคคฬะ (บ้านเมืองสงบสุข ปราศจากโจรผู้ร้าย ไม่ต้องระแวงภัย บ้านเรือนไม่
ต้องลงกลอน) ยัญ 4 ประการแรก เป็นเหตุ ส่วนยัญประการสุดท้ายเป็นผล
ต่อมาพราหมณ์สมัยหนึ่งดัดแปลงเป็นการบูชายัญ เพื่อผลประโยชน์ในทางลาภสักการะแก่ตน และมี
ความหมายแตกต่างออกไปดังนี้ อัสสเมธะ (การฆ่าม้าบูชายัญ) ปุริสเมธะ (การฆ่าคนบูชายัญ) สัมมาปาสะ
(การทำบ่วงแล้วขว้างไม้ลอดบ่วง ไม้ตกที่ไหนก็ทำพิธีบูชายัญที่นั่น) วาชเปยยะ (การดื่มน้ำเมาเพื่อกล่อม
จิตใจให้พร้อมที่จะบูชายัญ) นิรัคคฬะ (ยัญไม่มีลิ่มสลัก คือทั่วไปไม่มีขีดขั้นจำกัด หรือการฆ่าครบทุกอย่าง
บูชายัญ) (องฺ.อฏฺฐก.อ. 3/1/213, ขุ.อิติ.อ. 27/106-108, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา 2/39/371-372, องฺ.อฏฺฐก.
ฏีกา 3/1/249-252)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :373 }