เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 3. จิตตวรรค 5. จิตตหัตถเถรวัตถุ
4. สังฆรักขิตเถรวัตถุ
เรื่องพระสังฆรักขิตเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระสังฆรักขิตเถระ ดังนี้)
[37] คนเหล่าใดสำรวมจิต
ที่เที่ยวไปไกล1 เที่ยวไปดวงเดียว2
ไม่มีรูปร่าง3 อาศัยอยู่ในถ้ำ4
คนเหล่านั้นจักพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร5

5. จิตตหัตถเถรวัตถุ
เรื่องพระจิตตหัตถเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[38] ผู้มีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้แจ้งสัทธรรม
มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย
ย่อมไม่มีปัญญาสมบูรณ์
[39] ผู้มีจิตไม่ชุ่มด้วยราคะ ไม่ขุ่นมัวด้วยโทสะ
ละบุญและบาปได้แล้ว มีสติตื่นอยู่
ย่อมไม่มีภัย6

เชิงอรรถ :
1 เที่ยวไปไกล หมายถึงรับอารมณ์ที่อยู่ไกลได้ (ขุ.ธ.อ. 2/126)
2 เที่ยวไปดวงเดียว หมายถึงเกิดขึ้นทีละดวง ๆ ดวงหนึ่งดับ ดวงหนึ่งจึงเกิดขึ้น จะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน
(ขุ.ธ.อ. 2/126)
3 ไม่มีรูปร่าง หมายถึงไม่มีสัณฐาน ไม่มีสี เป็นต้น (ขุ.ธ.อ.2/126)
4 อาศัยอยู่ในถ้ำ หมายถึงอาศัยอยู่ในมหาภูตรูป 4 และหทัยรูป (ขุ.ธ.อ. 2/126)
5 เครื่องผูกแห่งมาร หมายถึงวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ 3 (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) (ขุ.ธ.อ.
2/126)
6ไม่มีภัย ในที่นี้หมายถึงไม่มีภัยคือกิเลส คาถานี้ ตรัสถึงคุณสมบัติของพระขีณาสพ (ขุ.ธ.อ. 2/130)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :37 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 3. จิตตวรรค 7. ปูติคัตตติสสเถรวัตถุ
6. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ 500 รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ 500 รูป ดังนี้)
[40] ภิกษุรู้ว่า ร่างกายนี้เปรียบเหมือนหม้อดิน
ควรป้องกันจิตนี้ เหมือนป้องกันพระนคร
แล้วใช้อาวุธคือปัญญารบกับมาร1
และควรรักษาชัยชนะไว้ แต่ไม่ควรยินดียึดติด2

7. ปูติคัตตติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้มีร่างกายเน่าเปื่อย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระผู้มีร่างกายเน่าเปื่อย ดังนี้)
[41] อีกไม่นานนัก ร่างกายนี้ก็จักปราศจากวิญญาณ
ถูกทอดทิ้งทับถมแผ่นดิน
เหมือนท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 มาร ในที่นี้หมายถึงกิเลสมาร (ขุ.ธ.อ. 2/137)
2 ควรรักษาชัยชนะไว้ แต่ไม่ควรยินดียึดติด หมายถึงเมื่อภิกษุบรรลุสมาบัติได้วิปัสสนาอ่อน ๆ ชนะ
กิเลสได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ควรยึดติดอยู่เพียงสมาบัตินั้น ควรพิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยจิตที่ผ่องใสแล้ว
รักษาระดับจิตนั้นไว้ได้ ในที่สุด จะสามารถบรรลุมรรคผลอันสูงสุด ชนะกิเลสมารได้อย่างสิ้นเชิง (ขุ.ธ.อ.
2/136)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :38 }