เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. เอกกนิบาต] 3. ตติยวรรค 3. อุภยัตถสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เราตอบตนเองได้ว่า ‘บัดนี้ เราเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
ถึงเพียงนี้ด้วยผลของกรรมและวิบากของกรรม 3 ประการ คือ
1. ทาน (การให้)1
2. ทมะ (การฝึกตน)2
3. สัญญมะ (การสำรวม)3”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บัณฑิตพึงศึกษาบุญที่ดีเลิศ
มีความสุขเป็นกำไรเท่านั้น คือพึงบำเพ็ญทาน
ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ และเจริญเมตตาจิต
บัณฑิตครั้นบำเพ็ญธรรม 3 ประการ
อันเป็นเหตุเกิดความสุขเหล่านี้แล้ว
ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุข ซึ่งไม่มีการเบียดเบียนกัน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เมตตสูตรที่ 2 จบ

3. อุภยัตถสูตร
ว่าด้วยประโยชน์ทั้งสอง
[23] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมถือเอา
ประโยชน์ทั้งสองได้ คือ ประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า

เชิงอรรถ :
1 การให้ ในที่นี้หมายถึงการบริจาคไทยธรรมมีข้าวเป็นต้น (ขุ.อิติ.อ.22/89)
2 การฝึกตน ในที่นี้หมายถึงการสำรวมอินทรีย์มีตาเป็นต้น และการข่มกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. 22/89)
3 การสำรวม หมายถึงการสำรวมกาย วาจา (ขุ.อิติ.อ.22/89)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :367 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. เอกกนิบาต] 3. ตติยวรรค 4. อัฏฐิปุญชสูตร
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
คือ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล ที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม
ถือเอาประโยชน์ทั้งสองได้ คือ ประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท
ในการทำบุญทั้งหลาย
บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมบรรลุประโยชน์ทั้งสอง
ธีรชน เราเรียกว่า บัณฑิต
เพราะยึดประโยชน์ทั้งสองไว้ได้ คือ
ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในภายหน้า1
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อุภยัตถสูตรที่ 3 จบ

4. อัฏฐิปุญชสูตร
ว่าด้วยร่างกระดูก
[24] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลคนหนึ่งพึงแล่นไป ท่องเที่ยวไปตลอดกัป โครงกระดูก
ร่างกระดูก กองกระดูก ถ้ามีคนรวบรวมเก็บไว้ และไม่สูญหายไป ก็จะเป็นกอง
กระดูกใหญ่โตเท่าภูเขาเวปุลละนี้แน่นอน”

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/128/152

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :368 }