เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. เอกกนิบาต] 3. ตติยวรรค 1. ปสันนจิตตสูตร
3. ตติยวรรค
หมวดที่ 3
1. ปสันนจิตตสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีจิตเลื่อมใส
[21] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดวาระจิตของบุคคลผู้มีจิตเลื่อมใสบางคนในโลกนี้ด้วยใจ
จึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ถ้าบุคคลนี้ตายในขณะนี้ จะดำรงอยู่ในสวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญ
ไปประดิษฐานไว้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะจิตของเขาเลื่อมใส ภิกษุทั้งหลาย
ก็เพราะเหตุที่มีจิตเลื่อมใสนั่นเอง สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้ว
จึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ด้วยอาการอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระพุทธเจ้าทรงรู้บุคคลบางคน
ผู้มีจิตเลื่อมใส1ในโลกนี้
จึงทรงขยายเนื้อความนี้ให้ชัดแก่ภิกษุในที่ใกล้ว่า
ถ้าบุคคลนี้ตายในขณะนี้ ต้องไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
เพราะจิตของเขาเลื่อมใส
เขาเป็นอย่างนั้น เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ก็เพราะเหตุที่มีจิตเลื่อมใส สัตว์ทั้งหลายจึงไปสู่สุคติ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปสันนจิตตสูตรที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 ผู้มีจิตเลื่อมใส หมายถึงผู้มีศรัทธาเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย และเชื่อผลแห่งกรรม (ขุ.อิติ.อ. 21/84)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :365 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. เอกกนิบาต] 3. ตติยวรรค 2. เมตตสูตร
2. เมตตสูตร
ว่าด้วยการเจริญเมตตา
[22] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวบุญเลย คำว่า ‘บุญ’ นี้ เป็นชื่อของความสุข
ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจ เรารู้ชัดผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก
น่าพอใจของบุญที่เราทำไว้ตลอดกาลนาน เราเจริญเมตตาพรหมวิหารมาถึง 7 ปี
จึงไม่มาเกิดในโลกนี้อีกถึง 7 สังวัฏฏวิวัฏฏกัป1 ทราบมาว่า เมื่อกัปพินาศไป เราบังเกิด
อยู่ในพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อกัปเจริญขึ้นใหม่ เราบังเกิดอยู่ในพรหมวิมานที่ว่างเปล่า
ภิกษุทั้งหลาย ณ พรหมวิมานนั้น เราเป็นพรหม เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครเทียบ
ได้ด้วยคุณธรรม เป็นผู้สามารถเห็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้อย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้
บังคับจิตให้เป็นไปในอำนาจของตนได้ ภิกษุทั้งหลาย เราเคยเป็นท้าวสักกะจอมเทพ
ถึง 36 ชาติติดต่อกัน เคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชามีอำนาจ
แผ่ไปทั่วมหาสมุทรทั้ง 4 เป็นผู้พิชิตชัยได้ทั้งภายในและภายนอก มีแว่นแคว้น
มั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ2 นับได้หลายร้อยครั้ง
ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดินประเทศราชเลย
เรานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ เราเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากถึง
เพียงนี้ด้วยผลของกรรมและวิบากของกรรมอะไรหนอ’

เชิงอรรถ :
1 7 สังวัฏฏวิวัฏฏกัป หมายถึง 7 มหากัป (ขุ.อิติ.อ.22/86)
2 รัตนะ 7 ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นารีแก้ว คหบดีแก้ว และปริณายกแก้ว (ที.สี.
(แปล) 9/258/89, ที.ม. (แปล) 10/243-251/183-187, ที.ปา. 11/199/123, องฺ.สตฺตก. (แปล)
23/62/120, ขุ.อิติ.อ.22/88)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :366 }