เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. เอกกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 9. สังฆสามัคคีสูตร
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
คือ สังฆเภท1
ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อสงฆ์แตกกัน ย่อมมีความบาดหมางกัน มีการบริภาษกัน
มีการดูหมิ่นกัน และมีการขับไล่กัน ในเพราะสังฆเภทนั้น ชนทั้งหลายที่ยังไม่เลื่อมใส
ก็ไม่เลื่อมใส และบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ก็ย่อมเป็นอื่นไป”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ยินดีในการแตกกัน
ตั้งอยู่ในอธรรม เป็นผู้เข้าถึงอบาย อยู่ในนรกตลอดกัป
พลาดจากธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ2
เสวยผลกรรมอยู่ในนรกตลอดกัป
เพราะทำลายสงฆ์ที่สามัคคีกันให้แตกแยกกัน3
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สังฆเภทสูตรที่ 8 จบ

9. สังฆสามัคคีสูตร
ว่าด้วยการทำสงฆ์ให้สามัคคีกัน
[19] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่
คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เกิดขึ้นเพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 สังฆเภท หมายถึงการทำสงฆ์ให้แตกจากกัน เช่นการไม่ทำอุโบสถ ปวารณา และสังฆกรรมร่วมกัน
(ขุ.อิติ.อ. 18/78)
2 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 360 ในเล่มนี้
3 วิ.จู. (แปล) 7/354/216, องฺ.ทสก. (แปล) 24/39/91, อภิ.ก. 37/657/395-396,862/492

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :362 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. เอกกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 10. ปทุฏฐจิตตสูตร
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
คือ สังฆสามัคคี
ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ย่อมไม่มีความบาดหมางกัน ไม่มี
การข่มขู่กัน ไม่มีการด่าว่ากัน และไม่มีการขับไล่กัน ในเพราะความสามัคคีของสงฆ์
นั้น ชนทั้งหลายที่ยังไม่เลื่อมใส ก็เลื่อมใส ส่วนชนทั้งหลายที่เลื่อมใสแล้ว ก็เลื่อมใส
ยิ่ง ๆ ขึ้นไป”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ความสามัคคีแห่งสงฆ์ เป็นเหตุให้เกิดสุข
และบุคคลผู้อนุเคราะห์สงฆ์ผู้สามัคคีกันแล้ว
ผู้ยินดีในความสามัคคีกัน ตั้งอยู่ในธรรม
ย่อมไม่พลาดจากธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ย่อมบันเทิงในสวรรค์ตลอดกัป เพราะสมานสงฆ์ให้สามัคคีกัน1
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สังฆสามัคคีสูตรที่ 9 จบ

10. ปทุฏฐจิตตสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีจิตถูกประทุษร้าย2
[20] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดวาระจิตของบุคคลผู้มีจิตถูกประทุษร้ายบางคนใน
โลกนี้ด้วยใจ จึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ถ้าบุคคลนี้ตายในขณะนี้ จะถูกไหม้ในนรกเหมือนถูก
นำไปฝังไว้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะจิตของเขาถูกประทุษร้าย ภิกษุทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) 7/354/217, องฺ.ทสก. (แปล) 24/40/92
2 จิตถูกประทุษร้าย หมายถึงจิตขุ่นมัวด้วยกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. 20/82)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :363 }