เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. เอกกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 4. อวิชชานีวรณสูตร
4. อวิชชานีวรณสูตร
ว่าด้วยธรรมเครื่องกางกั้นคืออวิชชา
[14] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมเครื่องกางกั้นอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้
หมู่สัตว์ซึ่งถูกธรรมเครื่องกางกั้นปิดบังแล้ว ต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน
เหมือนธรรมเครื่องกางกั้นคืออวิชชานี้เลย ภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ที่ถูกธรรมเครื่อง
กางกั้นคืออวิชชาปิดบังแล้ว ต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ไม่มีธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้หมู่สัตว์
ซึ่งถูกปิดบังแล้ว ต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไปตลอดวันและคืน
เหมือนถูกโมหะปิดกั้นเลย
ส่วนอริยสาวกทั้งหลาย ละโมหะได้
ทำลายกองแห่งความมืด1ได้
ย่อมไม่ท่องเที่ยวไปอีก
เพราะท่านเหล่านั้นไม่มีอวิชชาเป็นเหตุ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อวิชชานีวรณสูตรที่ 4 จบ

เชิงอรรถ :
1 กองแห่งความมืด ในที่นี้หมายถึงโมหะ (ความหลง) (ขุ.อิติ.อ.14/66)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :358 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. เอกกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 5. ตัณหาสังโยชนสูตร
5. ตัณหาสังโยชนสูตร
ว่าด้วยสังโยชน์คือตัณหา
[15] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นสังโยชน์อื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้หมู่สัตว์ซึ่งถูก
สังโยชน์ผูกมัดแล้วต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานเหมือนสังโยชน์คือตัณหานี้เลย
ภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ที่ถูกสังโยชน์คือตัณหาผูกมัดแล้ว ต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไป
สิ้นกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลผู้มีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น
ภิกษุรู้โทษนี้ รู้ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น มีสติสัมปชัญญะอยู่1
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ตัณหาสังโยชนสูตรที่ 5 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/9/15, ขุ.ม. (แปล) 29/191/540, ขุ.จู. (แปล) 30/107/364

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :359 }