เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. เอกกนิบาต] 1. ปฐมวรรค 6. มานสูตร
6. มานสูตร
ว่าด้วยมานะ
[6] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือมานะ(ความถือตัว)ได้ เราขอ
รับรองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
มานะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ถือตัวไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละมานะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มานสูตรที่ 6 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :350 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [1. เอกกนิบาต] 1. ปฐมวรรค 7. สัพพปริญญาสูตร
7. สัพพปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง
[7] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงธรรมทั้งปวง1 ยังกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงไม่ได้2
ยังไม่คลายความพอใจในธรรมทั้งปวงนั้น ยังละธรรมทั้งปวงไม่ได้3 ก็ยังไม่อาจ
สิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้ซึ้งถึงธรรมทั้งปวง กำหนดรู้ธรรมทั้งปวงได้ คลาย
ความพอใจในธรรมทั้งปวงนั้นได้ ละธรรมทั้งปวงได้ จึงอาจสิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้ใดรู้ธรรมทั้งปวงโดยอาการทุกอย่าง
ไม่ยินดีในธรรมทั้งปวง
ผู้นั้นแล กำหนดรู้ธรรมทั้งปวงได้
ล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวงได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สัพพปริญญาสูตรที่ 7 จบ

เชิงอรรถ :
1 ไม่รู้ซึ้งถึงธรรมทั้งปวง หมายถึงไม่รู้ธรรมที่ควรรู้ทั้งปวง โดยนัยว่า “เหล่านี้คือขันธ์ 5 เหล่านี้คืออายตนะ
12 เหล่านี้คือธาตุ 18 นี้คือทุกขอริยสัจ นี้คือทุกขสมุทัยสัจ” เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. 7/59)
2 ยังกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงไม่ได้ หมายถึงยังไม่สามารถกำหนดรู้ธรรมด้วยญาตปริญญา ตีรณปริญญา
และปหานปริญญาได้ (ขุ.อิติ.อ. 7/59)
3 ยังละธรรมทั้งปวงไม่ได้ หมายถึงยังละกิเลสวัฏที่ควรละด้วยมัคคปัญญาไม่ได้ (ขุ.อิติ.อ. 7/60)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :351 }