เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 3. จิตตวรรค 1. เมฆิยเถรวัตถุ
3. จิตตวรรค
หมวดว่าด้วยการฝึกจิต
1. เมฆิยเถรวัตถุ
เรื่องพระเมฆิยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเมฆิยเถระ ดังนี้)
[33] จิตที่ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก1
ผู้มีปัญญาสามารถควบคุมให้ตรงได้
เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรง ฉะนั้น
[34] จิตนี้ย่อมดิ้นรนไปมา2
เหมือนปลาที่ถูกยกขึ้นจากน้ำโยนไปบนบก ฉะนั้น
ดังนั้น ผู้มีปัญญาจึงควรละบ่วงแห่งมาร3

เชิงอรรถ :
1 ดิ้นรน หมายถึงดิ้นรนไปในอารมณ์ทั้ง 6 มี รูปารมณ์ เป็นต้น
กวัดแกว่ง หมายถึงหวั่นไหว ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวได้นาน ดุจทารกไม่อาจทรงตัวอยู่ใน
อิริยาบถเดียวได้นาน ฉะนั้น
รักษายาก หมายถึงให้ดำรงอยู่ในอารมณ์ธรรมที่เป็นสัปปายะได้ยาก
ห้ามยาก หมายถึงห้ามหรือกันมิให้ซ่านไปในวิสภาคารมณ์ได้ยาก (ขุ.ธ.อ. 2/112)
2 ดิ้นรนไปมา หมายถึงยินดีในกามคุณ 5 เมื่อถูกพรากจากกามคุณ 5 ให้หยุดนิ่งอยู่ในวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ก็จะดิ้นรนไปมา ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ได้ (ขุ.ธ.อ. 2/112)
3 บ่วงแห่งมาร ในที่นี้หมายถึงกิเลสวัฏ(วงจรกิเลส) ประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน (ขุ.ธ.อ.
2/112)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :35 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 3. จิตตวรรค 3. อุกกัณฐิตภิกขุวัตถุ
2. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[35] การฝึก1จิตที่ควบคุมได้ยาก เปลี่ยนแปลงง่าย2
ชอบใฝ่หาแต่อารมณ์ที่ปรารถนา จัดว่าเป็นความดี
เพราะจิตที่ฝึกแล้วย่อมนำสุขมาให้3

3. อุกกัณฐิตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้กระสันจะสึก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่งผู้กระสันจะสึก ดังนี้)
[36] ผู้มีปัญญาควรรักษาจิต
ที่เห็นได้ยากยิ่ง ละเอียดยิ่ง
ชอบใฝ่หาแต่อารมณ์ที่ปรารถนา
เพราะจิตที่คุ้มครองแล้วย่อมนำสุขมาให้

เชิงอรรถ :
1 การฝึก ในที่นี้หมายถึงการฝึกด้วยอริยมรรค 4 คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค
และอรหัตตมรรค (ขุ.ธ.อ. 2/118)
2 เปลี่ยนแปลงง่าย หมายถึงเกิดดับเร็ว (ขุ.ธ.อ. 2/118)
3 สุข ในที่นี้หมายถึงสุขที่เกิดจากอริยมรรค อริยผล และสุขที่เกิดจากการบรรลุนิพพานอันเป็นประโยชน์
สูงสุด (ขุ.ธ.อ. 2/118)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :36 }