เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [8. ปาฏลิคามิยวรรค] 4. จตุตถนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
4. จตุตถนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เกี่ยวกับนิพพาน สูตรที่ 4
[74] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลาย
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาว่าด้วยเรื่องนิพพาน ฝ่ายภิกษุเหล่านั้นก็ทำให้มั่น มนสิการ
แล้วน้อมนึกธรรมีกถาทั้งปวงด้วยจิต เงี่ยโสตลงฟังธรรม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ความหวั่นไหวย่อมมีแก่บุคคลผู้ถูกตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ความหวั่นไหวย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิอาศัย
เมื่อความหวั่นไหว(จิต)ไม่มี ก็ย่อมมีปัสสัทธิ1
เมื่อมีปัสสัทธิ ก็ย่อมไม่มีตัณหา
เมื่อไม่มีตัณหา ก็ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด
เมื่อไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด ก็ไม่มีการจุติและการอุบัติ
เมื่อไม่มีการจุติและการอุบัติ ก็ไม่มีโลกนี้ โลกอื่น
และระหว่างโลกทั้งสอง นี้คือที่สุดแห่งทุกข์
จตุตถนิพพานปฏิสังยุตตสูตรที่ 4 จบ

เชิงอรรถ :
1 ปัสสัทธิ หมายถึงความเข้าไปสงบกายและจิต (ขุ.ขุ.อ. 74/425)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :324 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [8. ปาฏลิคามิยวรรค] 5. จุนทสูตร
5. จุนทสูตร1
ว่าด้วยนายจุนทกัมมารบุตร2
[75] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมัลละพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ ได้เสด็จไปถึงเมืองปาวา ได้ยินว่า ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ
สวนอัมพวันของนายจุนทกัมมารบุตร
นายจุนทกัมมารบุตรได้ฟังว่า “ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปใน
แคว้นมัลละพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงเมืองปาวาแล้วประทับอยู่ ณ
สวนอัมพวันของเรา” นายจุนทกัมมารบุตรจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นายจุนท-
กัมมารบุตรเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้งนั้น นายจุนทกัมมารบุตรผู้อัน
พระผู้มีพระภาคตรัสชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
ครั้งนั้น นายจุนทกัมมารบุตรทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว
ลุกขึ้นจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป ครั้นคืนนั้น
ผ่านไป นายจุนทกัมมารบุตรสั่งให้คนจัดของขบฉันอย่างประณีต และสูกรมัททวะ3

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ที.ม. (แปล) 10/189-197/137-147
2 บุตรของนายช่างทอง (ขุ.อุ.อ.74/426)
3 สูกรมัททวะ พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้ดังนี้ คือ (1) (สูกรมทฺทวนฺติ สูกรสฺส มุทุสินิทฺธํ ปวตฺตมํสํ)
หมายถึงเนื้อสุกรทั่วไปที่อ่อนนุ่ม (2) (สูกเรหิ มทฺทิตวํสกฬีโร) หมายถึงหน่อไม้ชนิดหนึ่งที่สุกรแทะดุน
(3) (สูกเรหิ มทฺทิตปฺปเทเส ชาตํ อหิฉตฺตกํ) หมายถึงเห็ดชนิดหนึ่งที่เกิดในถิ่นที่สุกรแทะดุน (4) (สูกร-
มทฺทวํ นาม เอกํ รสายตนํ) หมายถึงรสอาหารชนิดหนึ่งชื่อว่า สูกรมัททวะ (ขุ.อุ.อ. 75/427)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :325 }