เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [8. ปาฏลิคามิยวรรค] 3. ตติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
3. ตติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เกี่ยวกับนิพพาน สูตรที่ 3
[73] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลาย
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาว่าด้วยเรื่องนิพพาน ฝ่ายภิกษุเหล่านั้นก็ทำให้มั่น มนสิการ
แล้วน้อมนึกธรรมีกถาทั้งปวงด้วยจิต เงี่ยโสตลงฟังธรรม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ปรากฏ
ไม่ถูกเหตุสร้าง ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ปรากฏ
ไม่ถูกเหตุสร้าง ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง จักไม่มี
ในโลกนี้ก็จะไม่ปรากฏภาวะสลัดออกจากธรรมชาติที่เกิดแล้ว
ที่ปรากฏแล้ว ที่ถูกเหตุสร้างแล้ว ที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ปรากฏ
ไม่ถูกเหตุสร้าง ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่
ฉะนั้น จึงปรากฏภาวะสลัดออกจากธรรมชาติที่เกิดแล้ว
ที่ปรากฏแล้ว ที่ถูกเหตุสร้างแล้ว ที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
ตติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตรที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :323 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [8. ปาฏลิคามิยวรรค] 4. จตุตถนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
4. จตุตถนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เกี่ยวกับนิพพาน สูตรที่ 4
[74] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลาย
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาว่าด้วยเรื่องนิพพาน ฝ่ายภิกษุเหล่านั้นก็ทำให้มั่น มนสิการ
แล้วน้อมนึกธรรมีกถาทั้งปวงด้วยจิต เงี่ยโสตลงฟังธรรม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ความหวั่นไหวย่อมมีแก่บุคคลผู้ถูกตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ความหวั่นไหวย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิอาศัย
เมื่อความหวั่นไหว(จิต)ไม่มี ก็ย่อมมีปัสสัทธิ1
เมื่อมีปัสสัทธิ ก็ย่อมไม่มีตัณหา
เมื่อไม่มีตัณหา ก็ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด
เมื่อไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด ก็ไม่มีการจุติและการอุบัติ
เมื่อไม่มีการจุติและการอุบัติ ก็ไม่มีโลกนี้ โลกอื่น
และระหว่างโลกทั้งสอง นี้คือที่สุดแห่งทุกข์
จตุตถนิพพานปฏิสังยุตตสูตรที่ 4 จบ

เชิงอรรถ :
1 ปัสสัทธิ หมายถึงความเข้าไปสงบกายและจิต (ขุ.ขุ.อ. 74/425)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :324 }