เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [7. จูฬวรรค] 10. อุเทนสูตร
เข้าไปถึง น้ำก็ล้นขึ้นมาพัดเอาหญ้าและแกลบทั้งหมดนั้นออกไปจากปากบ่อ เหลือแต่
น้ำที่ใสสะอาด ไม่ขุ่น เต็มเปี่ยมถึงปากบ่อ ขังอยู่ดุจไหลออกมาจากปากบ่อได้เอง
ขอพระผู้มีพระภาคทรงดื่มน้ำเถิด ขอพระสุคตทรงดื่มน้ำเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ถ้าน้ำมีอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่จำเป็นต้องขุดบ่อน้ำ
พระพุทธเจ้าเช่นเรา ตัดรากตัณหาขาดแล้ว
ก็ไม่จำเป็นต้องเที่ยวแสวงหา(น้ำหรือปัจจัยอย่างอื่น)
อุทปานสูตรที่ 9 จบ

10. อุเทนสูตร
ว่าด้วยพระราชวังของพระเจ้าอุเทนถูกเผา
[70] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี สมัยนั้น
เมื่อพระเจ้าอุเทนเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ภายในพระราชวังถูกไฟไหม้ หญิง
500 คน มีพระนางสามาวดีเป็นหัวหน้า ต่างเสียชีวิตทั้งหมด
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้า
ไปบิณฑบาตยังกรุงโกสัมพี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เมื่อพระเจ้า
อุเทนเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ภายในพระราชวังถูกไฟไหม้ หญิง 500 คน
มีพระนางสามาวดีเป็นหัวหน้า ต่างเสียชีวิตทั้งหมด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คติของ
อุบาสิกาเหล่านั้นเป็นอย่างไร ภพหน้าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :319 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [7. จูฬวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาเหล่านั้นที่เป็นโสดาบันก็มีที่
เป็นสกทาคามินีก็มี ที่เป็นอนาคามินีก็มี ภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาเหล่านั้นทั้งหมด
ชื่อว่าไม่ตายเปล่า1”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
สัตว์โลกมีโมหะเป็นเครื่องผูกพัน
ย่อมปรากฏเหมือนสมบูรณ์ด้วยเหตุ
คนพาลมีอุปธิเป็นเครื่องผูกพัน ถูกความมืดหุ้มห่อไว้
ย่อมปรากฏเหมือนยั่งยืนนิรันดร์
แต่ผู้เห็นอยู่ ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
อุเทนสูตรที่ 10 จบ
จูฬวรรคที่ 7 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. ปฐมลกุณฏกภัททิยสูตร 2. ทุติยลกุณฏกภัททิยสูตร
3. ปฐมสัตตสูตร 4. ทุติยสัตตสูตร
5. อปรลกุณฏกภัททิยสูตร 6. ตัณหาสังขยสูตร
7. ปปัญจักขยสูตร 8. กัจจานสูตร
9. อุทปานสูตร 10. อุเทนสูตร


เชิงอรรถ :
1 ไม่ตายเปล่า หมายถึงไม่ไร้ผล คือบรรลุสามัญญผล (ผลแห่งความเป็นสมณะ) (ขุ.อุ.อ. 70/411)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :320 }