เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [7. จูฬวรรค] 5. อปรลกุณฏกภัททิยสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระลกุณฏกภัททิยะมีผิวพรรณ
หยาบ ไม่น่าดู มีร่างกายค่อมเตี้ย ถูกภิกษุดูหมิ่น กำลังเดินตามหลังภิกษุทั้งหลาย
มาแต่ไกล จึงรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็น
ภิกษุรูปนั้นผู้มีผิวพรรณหยาบ ไม่น่าดู มีร่างกายค่อมเตี้ย ถูกภิกษุดูหมิ่น กำลัง
เดินตามหลังภิกษุทั้งหลายมาแต่ไกลหรือไม่”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้นมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
เพราะเธอเคยเข้าสมาบัติมาแล้วแทบทุกชนิด เธอใช้ปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ทำให้
แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม1 อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรผู้ออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
เธอจงดูรถ2ซึ่งมีส่วนประกอบอันไม่มีโทษ3
มีหลังคาขาว4 มีเพลาเดียว5 ไม่มีทุกข์
แล่นไปถึงที่หมาย ตัดกระแส ไม่มีเครื่องผูก6
อปรลกุณฏกภัททิยสูตรที่ 5 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 212 ในเล่มนี้
2 รถ หมายถึงร่างกาย (สํ.สฬา.(แปล) 18/347/380, ขุ.อุ.อ. 65/396)
3 ส่วนประกอบอันไม่มีโทษ หมายถึงอรหัตตผลศีล (สํ.สฬา.(แปล) 18/347/380, ขุ.อุ.อ. 65/396)
4 หลังคาขาว หมายถึงอรหัตตผลวิมุตติ (สํ.สฬา.(แปล) 18/347/380, ขุ.อุ.อ. 65/396)
5 เพลาเดียว หมายถึงสติ (สํ.สฬา.(แปล) 18/347/380, ขุ.อุ.อ. 65/396)
6 สํ.สฬา. (แปล) 18/347/380

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :314 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [7. จูฬวรรค] 6. ตัณหาสังขยสูตร
6. ตัณหาสังขยสูตร
ว่าด้วยความสิ้นไปแห่งตัณหา
[66] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะนั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง พิจารณาความหลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหาอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระอัญญาโกณฑัญญะผู้กำลังนั่ง
คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง พิจารณาความหลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหาอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
พระอริยบุคคลใดไม่มีราก1ไม่มีพื้นดิน2ไม่มีเถา3
จะมีใบ4แต่ที่ไหน
ใครเล่าควรจะติเตียนพระอริยบุคคลนั้น
ที่เป็นปราชญ์ พ้นจากเครื่องผูกแล้ว
พระอริยบุคคลนั้น แม้เทวดาก็ชื่นชม ถึงพรหมก็สรรเสริญ
ตัณหาสังขยสูตรที่ 6 จบ

เชิงอรรถ :
1 ไม่มีราก หมายถึงไม่มีอวิชชา (ความไม่รู้) (ขุ.อุ.อ.66/397)
2 ไม่มีพื้นดิน หมายถึงไม่มีอาสวะ(กิเลสที่หมักดองอยู่ในสันดาน) นิวรณ์ (ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี)
และอโยนิโสมนสิการ (การไม่มนสิการโดยแยบคาย) (ขุ.อุ.อ. 66/397)
3 ไม่มีเถา หมายถึงไม่มีมานะ (ถือตัว) และอติมานะ (ดูหมิ่น) (ขุ.อุ.อ.67/397)
4 ใบ หมายถึงมทะ(ความมัวเมา) ปมาทะ(ความประมาท) มายา(มีมารยา) และสาเฐยยะ(ความโอ้อวดหลอกเขา)
(ขุ.อุ.อ. 66/398)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :315 }