เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 1. ยมกววค 14. เทวสหายกภิกขุวัตถุ
14. เทวสหายกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุสองสหาย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[19] คนที่กล่าวพุทธพจน์1แม้มาก
แต่มัวประมาท ไม่ทำตามพุทธพจน์นั้น
ย่อมไม่ได้รับผลแห่งความเป็นสมณะ2
เหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโคได้แต่นับโคให้คนอื่น ฉะนั้น
[20] คนที่กล่าวพุทธพจน์แม้น้อย
แต่ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นปกติ3
ละราคะ โทสะ และโมหะได้แล้ว
รู้ชอบ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว
ไม่ยึดติดในโลกนี้และโลกหน้า4
เขาย่อมได้รับผลแห่งความเป็นสมณะ
ยมกวรรคที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 พุทธพจน์ ในที่นี้หมายถึงพระไตรปิฎก (ขุ.ธ.อ. 1/140)
2 ผลแห่งความเป็นสมณะ หมายถึงมรรค 4 ผล 4 (ขุ.ธ.อ. 1/140)
3 ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ในที่นี้หมายถึงประพฤติธรรม คือ ปาริสุทธิศีล 4 ประการ ธุดงค์ 13 ประการ
และอสุภกัมมัฏฐาน เป็นต้น ซึ่งเป็นธรรมที่ควรแก่การบรรลุโลกุตตรธรรม 9 ประการ (ขุ.ธ.อ. 1/141)
4 ไม่ยึดติดในโลกนี้และโลกหน้า ในที่นี้หมายถึงไม่ถือมั่นขันธ์ ธาตุ และอายตนะทั้งภายในภายนอก ในโลก
นี้และโลกหน้าด้วยอุปาทาน 4 ประการ (ขุ.ธ.อ. 1/141)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :30 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 2. อัปปมาทวรรค 1. สามาวตีวัตถุ
2. อัปปมาทวรรค
หมวดว่าด้วยความไม่ประมาท
1. สามาวตีวัตถุ
เรื่องพระนางสามาวดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[21] ความไม่ประมาท1 เป็นทางแห่งอมตะ2
ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย
คนผู้ไม่ประมาทชื่อว่าย่อมไม่ตาย
คนผู้ประมาทจึงเหมือนคนตายแล้ว3
[22] บัณฑิตทราบความต่างกัน
ระหว่างความไม่ประมาทกับความประมาทนั้น
แล้วตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ย่อมบันเทิงใจในความไม่ประมาท
ยินดีในทางปฏิบัติของพระอริยะทั้งหลาย4
[23] บัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์เหล่านั้น เพ่งพินิจ5
มีความเพียรต่อเนื่อง มีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์
ย่อมบรรลุนิพพานอันเป็นสภาวะยอดเยี่ยม ปลอดจากโยคะ6

เชิงอรรถ :
1 ความไม่ประมาท นี้เป็นชื่อของสติ (ขุ.ธ.อ. 2/60)
2 ทางแห่งอมตะ หมายถึงอุบายบรรลุอมตะ คำว่า อมตะ (ไม่ตาย) หมายถึงนิพพาน นิพพานนั้นแล ที่ชื่อว่า
ไม่แก่ ไม่ตาย เพราะไม่เกิด (ขุ.ธ.อ. 2/60)
3 ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) 27/332/588
4 ทางปฏิบัติของพระอริยะ หมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ มีสติปัฏฐาน 4 เป็นต้น และโลกุตตร-
ธรรม 9 ประการ (ขุ.ธ.อ. 2/61)
5 เพ่งพินิจ หมายถึงการเพ่งพินิจด้วยจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่มี 2 อย่าง คือ อารัมมณูปนิชฌาน (การเพ่ง
อารมณ์ ได้แก่สมาบัติ 8) และลักขณูปนิชฌาน (การเพ่งลักษณะ ได้แก่ วิปัสสนา มรรค และผล) (ขุ.ธ.อ.
2/61-65)
6 โยคะ หมายถึงสภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพมี 4 ประการ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.ธ.อ.
2/62, ขุ.ธ.อ. 8/93,109, ขุ.อุ.อ. 19/167)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :31 }