เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [6. ชัจจันธวรรค] 2. สัตตชฏิลสูตร
มหาบพิตร ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน
ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้
ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นักบวชเหล่านั้น เป็นคนของข้าพระองค์ เป็นบุรุษสอดแนม
เป็นสายลับเที่ยวสอดแนมไปยังชนบทแล้วพากันกลับมา ข้าพระองค์จะรู้เรื่องราว
หลังจากที่คนเหล่านั้นสืบมา บัดนี้ คนเหล่านั้นคงจะชำระล้างละอองธุลีนั้นแล้ว
อาบสะอาดดี ลูบไล้ผิวดีแล้ว ตัดผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้าขาว เอิบอิ่ม เพียบพร้อม
ด้วยกามคุณ 5 บำเรออินทรีย์ทั้งหลายอยู่”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
บรรพชิตไม่พึงพยายามในบาปกรรมทั้งปวง
ไม่พึงเป็นคนของผู้อื่น
ไม่พึงอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่
และไม่พึงใช้ธรรมเป็นเครื่องค้าขาย1
สัตตชฏิลสูตรที่ 2 จบ

เชิงอรรถ :
1 ความหมายของพุทธอุทานนี้ คือ บรรพชิตไม่พึงพยายามทำตนดุจราชบุรุษ เช่น รับทำงานเดินข่าว เป็น
บุรุษสอดแนม เป็นต้น ไม่พึงเป็นเสวก(ข้าราชการในราชสำนัก)ด้วยรูปแบบของบรรพชิต ไม่พึงมีผู้อื่นเป็น
ที่พึ่ง แต่พึงมีตนเป็นที่พึ่งของตน และไม่พึงแสดงธรรมเพราะต้องการทรัพย์ (ขุ.อุ.อ. 52/358)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :287 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [6. ชัจจันธวรรค] 3. ปัจจเวกขณสูตร
3. ปัจจเวกขณสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาอกุศลธรรมและกุศลธรรม
[53] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งพิจารณาบาป
อุกศลธรรมจำนวนมากที่พระองค์ทรงละได้ขาดแล้ว และกุศลธรรมจำนวนมากที่
พระองค์ให้ถึงความเจริญบริบูรณ์แล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบบาปอกุศลธรรมจำนวนมากที่พระองค์
ทรงละได้ขาดแล้ว และกุศลธรรมจำนวนมากที่พระองค์ให้ถึงความเจริญบริบูรณ์แล้ว
จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ในกาลก่อน หมู่กิเลสได้มีแล้ว
แต่ในกาลนั้น หมู่กิเลสไม่มี
ในกาลก่อน ธรรมอันปราศจากโทษไม่มี
แต่ในกาลนั้น ธรรมอันปราศจากโทษได้มีแล้ว
ในอดีต อริยมรรคไม่มี ในอนาคตก็จักไม่มี และในปัจจุบันก็ไม่มี1
ปัจจเวกขณสูตรที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 ความหมายของพุทธอุทานนี้ คือ ก่อนการบรรลุอรหัตตมัคคญาณยังมีกิเลส เช่น ราคะ เป็นต้นเหลืออยู่
และธรรมที่ปราศจากโทษก็ยังไม่เจริญบริบูรณ์ แต่เมื่อบรรลุอรหัตตมัคคญาณแล้ว กิเลสทั้งหลายก็ถูกละ
ได้สิ้นเชิง ธรรมที่ปราศจากโทษก็เจริญบริบูรณ์
อนึ่ง ในอดีตก่อนตรัสรู้ อริยมรรคที่เป็นเหตุละกิเลสยังไม่เกิดแก่พระองค์ แม้ในปัจจุบันและอนาคต
อริยมรรคนั้นก็ไม่เกิดแก่พระองค์เช่นกัน เพราะไม่มีกิเลสที่จะต้องใช้อริยมรรคนั้นเป็นเครื่องละอีกต่อไป (ขุ.อุ.อ.
53/362)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :288 }