เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [5. โสณเถรวรรค] 6. โสณสูตร
พุทธอุทาน
ยิ่งปิด ยิ่งรั่ว1 เปิดแล้วไม่รั่ว2
เพราะฉะนั้น พึงเปิดสิ่งที่ปิด
เมื่อเป็นดังนี้ สิ่งที่เปิดนั้นก็จะไม่รั่ว3
อุโปสถสูตรที่ 5 จบ

6. โสณสูตร4
ว่าด้วยพระโสณเถระ
[46] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระมหากัจจานะพักอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ
เมืองกุรุรฆระ แคว้นอวันตี ครั้งนั้น อุบาสกชื่อโสณะ กุฏิกัณณะเป็นอุปัฏฐาก
ของท่านพระมหากัจจานะ
ครั้งนั้น อุบาสกชื่อโสณะ กุฏิกัณณะหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึง
อย่างนี้ว่า “การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ครบถ้วน
ดุจสังข์ที่ขัดดีแล้ว อย่างที่พระมหากัจจานะแสดงธรรมไว้ มิใช่กระทำได้ง่าย ทางที่
ดีเราควรปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต”

เชิงอรรถ :
1 ยิ่งปิด ยิ่งรั่ว หมายถึงภิกษุต้องอาบัติแล้วปกปิดไว้ ย่อมต้องอาบัติตัวอื่นใหม่อีก และต้องอาบัติมากขึ้น
เรื่อย ๆ ฝนคืออาบัติหรือฝนคือกิเลส ย่อมรั่วรดจิตมากขึ้น (ขุ.อุ.อ. 45/327)
2 เปิดแล้วไม่รั่ว หมายถึงภิกษุต้องอาบัติแล้ว เปิดเผยอาบัติแก่เพื่อนภิกษุแล้วแสดงออกจากอาบัติตาม
ธรรมตามวินัย จึงไม่ต้องอาบัตินั้น (ขุ.อุ.อ. 45/327)
3 ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) 7/385/284, ขุ.เถร. (แปล) 26/447/415
4 ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) 5/257-258/32-37

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :268 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [5. โสณเถรวรรค] 6. โสณสูตร
ต่อมา เขาเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส กระผมหลีกเร้น
อยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติ
พรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ที่ขัดดีแล้ว อย่างที่พระมหากัจจานะ
แสดงธรรมไว้ มิใช่กระทำได้ง่าย ทางที่ดีเราควรปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ขอพระคุณเจ้ามหากัจจานะโปรดให้กระผมบวช
ด้วยเถิด ขอรับ”
เมื่อเขากล่าวอย่างนี้ ท่านพระมหากัจจานะจึงกล่าวกับเขาดังนี้ว่า “โสณะ
การประพฤติพรหมจรรย์ซึ่งต้องบริโภคอาหารมื้อเดียว นอนผู้เดียว1จนตลอดชีพ
ทำได้ยาก แต่เอาเถอะ โสณะ ท่านเป็นคฤหัสถ์อยู่ที่บ้านนั่นแหละ จงหมั่นประพฤติ
ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นพรหมจรรย์ที่ต้องบริโภคอาหาร
มื้อเดียว นอนผู้เดียว ตามเวลาที่เหมาะสมเถิด2” ครั้งนั้น ความคิดที่น้อมไปเพื่อ
บรรพชาของอุบาสกโสณะ กุฏิกัณณะ ระงับไป
แม้ครั้งที่ 2 อุบาสกโสณะ กุฏิกัณณะหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึง
อย่างนี้ว่า “การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
ดุจสังข์ที่ขัดดีแล้ว อย่างที่พระมหากัจจานะแสดงธรรมไว้ มิใช่กระทำได้ง่าย
ทางที่ดีเราควรปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต” แล้วเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส กระผมหลีกเร้น
อยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า ‘การที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์

เชิงอรรถ :
1 นอนผู้เดียว มิได้หมายถึงแต่เพียงอิริยาบถนอนอย่างเดียว แต่หมายถึงอิริยาบถอีก 3 อิริยาบถด้วย คือ
ยืนผู้เดียว เดินผู้เดียว นั่งผู้เดียว ซึ่งจัดเป็นกายวิเวก (สารตฺถ.ฏีกา 3/257/360)
2 คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่อุบาสกจะพึงหมั่นประพฤติ ในส่วนเบื้องต้น คือ ศีล 5 ที่จะต้องรักษาประจำ
ศีล 8 ที่พึงรักษาในวันอุโบสถ 8 ค่ำ 14 ค่ำ 15 ค่ำ และศีล 10 (ถ้าสามารถ) และเจริญสมาธิปัญญา
ตามความเหมาะสมแก่ศีลที่รักษานั้น ๆ (ขุ.อุ.อ.46/331)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :269 }