เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [5. โสณเถรวรรค] 3. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จริงอย่างนั้น อานนท์ จริงอย่างนั้น อานนท์ มารดา
พระโพธิสัตว์มีอายุน้อย เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ 7 วัน มารดาก็สวรรคตไปเกิด
ยังหมู่เทพชั้นดุสิต”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เกิดแล้ว
จะเกิดต่อไป หรือกำลังเกิดก็ตาม
สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจักต้องละทิ้งร่างกายไป
คนฉลาดรู้ความเสื่อมไปของสัตว์ทั้งหมดนั้นแล้ว
ควรเป็นผู้ประกอบความเพียร1 ประพฤติพรหมจรรย์2
อัปปายุกสูตรที่ 2 จบ

3. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
ว่าด้วยชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ
[43] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ชายคนหนึ่งชื่อสุปปพุทธะ เป็นโรคเรื้อน ยากจน กำพร้า
ยากไร้ วันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคมีบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมประทับนั่งแสดงธรรมอยู่
ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้เห็นหมู่มหาชนนั้นนั่งประชุมกันแต่ที่ไกล ได้มีความคิด
ดังนี้ว่า “ชนทั้งหลายกำลังแจกของเคี้ยวหรือของบริโภค ในที่นี้เป็นแน่ ทางที่ดีเรา
ควรเข้าไปยังหมู่มหาชนนั้น พึงได้ของเคี้ยวหรือของบริโภคในที่นี้บ้าง”

เชิงอรรถ :
1 ประกอบความเพียร หมายถึงบำเพ็ญวิปัสสนา (ขุ.อุ.อ. 42/298)
2 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 229

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :255 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [5. โสณเถรวรรค] 3. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
ลำดับนั้น ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้เข้าไปยังหมู่มหาชนนั้น ได้เห็นพระผู้มี
พระภาคมีบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ จึงมีความคิดดังนี้ว่า
“ชนทั้งหลายคงไม่แจกของเคี้ยวหรือของบริโภคในที่นี้ พระสมณโคดมนี้แสดงธรรม
ในบริษัท ทางที่ดีเราควรฟังธรรมบ้าง” จึงนั่งลง ณ ที่สมควรในที่นั้น ด้วยตั้งใจว่า
“เราจักฟังธรรม”
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการกำหนดจิตของบริษัททุกหมู่เหล่าด้วย
พระทัยว่า ในบริษัทนี้ ใครหนอแลควรรู้แจ้งธรรม พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตร
เห็นชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะนั่งอยู่ในบริษัทนั้น จึงทรงพระดำริดังนี้ว่า “ในบริษัทนี้
ชายคนนี้แลควรรู้แจ้งธรรม” พระองค์ทรงปรารภชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ จึงตรัส
อนุปุพพีกถา คือ ทรงประกาศ
1. ทานกถา (เรื่องทาน)
2. สีลกถา (เรื่องศีล)
3. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
4. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)1
5. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)
เมื่อทรงทราบว่าชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะมีจิตควรบรรลุธรรม สงบ อ่อน
ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกเทศนา2ของพระ-
พุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันไร้ธุลี ปราศจากมลทิน
ได้เกิดแก่ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ ณ ที่นั่งนั้นนั่นเองว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความ
เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เปรียบเหมือนผ้า
ขาวสะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

เชิงอรรถ :
1 แปลจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สงฺกิเลสํ (ขุ.อุ. 25/43/160)
2 สามุกกังสิกเทศนา หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่มีผู้ทูลอาราธนา
หรือทูลถาม พระธรรมเทศนานั้น คือ อริยสัจ 4 ประการ (ขุ.อุ.อ. 43/303)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :256 }