เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [4. เมฆิยวรรค] 5. นาคสูตร
ปรับพื้นที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ให้ปราศจากของเขียวสด และใช้งวงตักน้ำดื่ม
น้ำใช้เข้าไปตั้งไว้เพื่อพระผู้มีพระภาค ณ ที่นั้น
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงดำริอย่างนี้ว่า
“เมื่อก่อน เราอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา
มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ เราอยู่คลุกคลี ลำบาก
ไม่ผาสุก เวลานี้ เรานั้นไม่คลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ เราไม่คลุกคลี
จึงอยู่ผาสุกดี”
พญาช้างนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อน เราอยู่คลุกคลีกับพวกช้างพลาย
ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่เราหักลงมากองไว้
ช้างเหล่านั้นก็กินหมด ได้ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อเราเดินลงหรือขึ้นจากท่าน้ำ ช้างพัง
ก็เดินเสียดสีกายไป เราอยู่คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก เวลานี้ เรานั้นไม่คลุกคลีอยู่
กับพวกช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก ไม่กินหญ้ายอดด้วน ไม่ถูกช้าง
กินกิ่งไม้ที่เราหักลงมา ไม่ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อเราเดินลงหรือขึ้นจากท่าน้ำ ช้างพัง
ไม่เดินเสียดสีกายไป เราไม่คลุกคลี จึงอยู่ผาสุกดี”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความสงัดพระวรกายของพระองค์ และ
ทรงทราบความคิดของพญาช้างนั้นด้วยพระทัยแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
จิตของพญาช้างผู้มีงางามดุจงอนรถนั้น
ย่อมเสมอกับจิตของพระพุทธเจ้า
เพราะอยู่ผู้เดียวยินดีในป่าเหมือนกัน1
นาคสูตรที่ 5 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) 5/467/360

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :243 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [4. เมฆิยวรรค] 6. ปิณโฑลสูตร
6. ปิณโฑลสูตร
ว่าด้วยพระปิณโฑลภารทวาชเถระ
[36] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะผู้ถือการ
อยู่ป่าเป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
ถือการนุ่งห่มไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลี
ด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร เป็นผู้กำจัดกิเลส และกล่าวถึงแต่เรื่องกำจัดกิเลส
หมั่นประกอบอธิจิต นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระปิณโฑลภารทวาชะผู้ถือการอยู่ป่า
เป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือการ
นุ่งห่มผ้าไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วย
หมู่คณะ ปรารภความเพียร เป็นผู้กำจัดกิเลส และกล่าวถึงแต่เรื่องกำจัดกิเลส
หมั่นประกอบอธิจิต นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ความสำรวมในปาติโมกข์
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด
การประกอบความเพียรในอธิจิต
นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย1
ปิณโฑลสูตรที่ 6 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูธรรมบทข้อ 185 หน้า 91 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :244 }