เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [4. เมฆิยวรรค] 5. นาคสูตร
5. นาคสูตร
ว่าด้วยพญาช้างปรนนิบัติพระพุทธเจ้า
[35] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี สมัยนั้น
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา
มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงดำริอย่างนี้ว่า “เวลานี้
เราอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์
ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ เราอยู่คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก ทางที่ดี
เราควรปลีกตัวจากหมู่อยู่ผู้เดียว”
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงโกสัมพี เสด็จกลับจากบิณฑบาต หลังจากเสวยพระ
กระยาหารเสร็จแล้วทรงเก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง ไม่ตรัส
บอกพระอุปัฏฐาก ไม่ตรัสบอกภิกษุสงฆ์ พระองค์เดียว ไม่มีเพื่อน เสด็จจาริกไป
ทางป่าปาลิไลยกะเสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงป่าปาลิไลยกะ ทราบว่า พระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ที่ควงไม้รัง ในราวป่ารักขิตวัน เขตป่าปาลิไลยกะนั้น
สมัยนั้น พญาช้างตัวหนึ่งอยู่คลุกคลีกับพวกช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่
ลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน ถูกช้างเหล่านั้นกินกิ่งไม้ที่ตนหักลงมากองไว้ ได้ดื่ม
แต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อพญาช้างนั้นเดินลงหรือขึ้นจากท่าน้ำ ช้างพังก็เดินเสียดสีกายไป
พญาช้างอยู่คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก พญาช้างนั้นจึงมีความคิดดังนี้ว่า “เวลานี้
เราอยู่คลุกคลีกับพวกช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน
ถูกช้างเหล่านั้นกินกิ่งไม้ที่เราหักลงมากองไว้ ได้ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อเราเดินลงหรือ
ขึ้นจากท่าน้ำ ช่างพังก็เดินเสียดสีกายไป เราอยู่คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก ทางที่ดี
เราควรหลีกออกจากโขลงไปอยู่ผู้เดียว”
ครั้นแล้ว พญาช้างนั้นก็ได้หลีกออกจากโขลง เดินไปทางเขตป่าปาลิไลยกะ
ราวป่ารักขิตวัน ณ ควงไม้รัง เข้าไปหาพระผู้มีพระภาค ทราบว่า พญาช้างนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :242 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [4. เมฆิยวรรค] 5. นาคสูตร
ปรับพื้นที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ให้ปราศจากของเขียวสด และใช้งวงตักน้ำดื่ม
น้ำใช้เข้าไปตั้งไว้เพื่อพระผู้มีพระภาค ณ ที่นั้น
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงดำริอย่างนี้ว่า
“เมื่อก่อน เราอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา
มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ เราอยู่คลุกคลี ลำบาก
ไม่ผาสุก เวลานี้ เรานั้นไม่คลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ เราไม่คลุกคลี
จึงอยู่ผาสุกดี”
พญาช้างนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อน เราอยู่คลุกคลีกับพวกช้างพลาย
ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่เราหักลงมากองไว้
ช้างเหล่านั้นก็กินหมด ได้ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อเราเดินลงหรือขึ้นจากท่าน้ำ ช้างพัง
ก็เดินเสียดสีกายไป เราอยู่คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก เวลานี้ เรานั้นไม่คลุกคลีอยู่
กับพวกช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก ไม่กินหญ้ายอดด้วน ไม่ถูกช้าง
กินกิ่งไม้ที่เราหักลงมา ไม่ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อเราเดินลงหรือขึ้นจากท่าน้ำ ช้างพัง
ไม่เดินเสียดสีกายไป เราไม่คลุกคลี จึงอยู่ผาสุกดี”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความสงัดพระวรกายของพระองค์ และ
ทรงทราบความคิดของพญาช้างนั้นด้วยพระทัยแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
จิตของพญาช้างผู้มีงางามดุจงอนรถนั้น
ย่อมเสมอกับจิตของพระพุทธเจ้า
เพราะอยู่ผู้เดียวยินดีในป่าเหมือนกัน1
นาคสูตรที่ 5 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) 5/467/360

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :243 }