เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [4. เมฆิยวรรค] 2. อุทธตสูตร
2. อุทธตสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
[32] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าสาลวัน ซึ่งเป็นทางเข้ากรุง
กุสินาราของพวกเจ้ามัลละ สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล
ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง
ไม่สำรวมอินทรีย์อยู่ ณ กระท่อมในป่า ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล
ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง
ไม่สำรวมอินทรีย์อยู่ ณ กระท่อมในป่า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน1
ภิกษุผู้ไม่รักษากาย2 มีความเห็นผิด
ถูกถีนมิทธะ3ครอบงำ ย่อมไปสู่อำนาจมาร4
เพราะฉะนั้น ภิกษุควรรักษาจิต5
มีความดำริชอบเป็นอารมณ์
มุ่งความเห็นถูกต้องเป็นสำคัญ
รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของเบญจขันธ์
ครอบงำถีนมิทธะได้ ก็สามารถละทุคติได้ทั้งหมด
อุทธตสูตรที่ 2 จบ

เชิงอรรถ :
1 พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงโทษในการอยู่ด้วยความประมาท และอานิสงส์ในการอยู่ด้วยความไม่
ประมาทตามลำดับ (ขุ.อุ.อ. 32/254)
2 ผู้ไม่รักษากาย หมายถึงผู้ไม่ใช้สติคุ้มครองป้องกันกายวิญญาณ 6 (ขุ.อุ.อ. 32/254)
3 ถีนมิทธะ หมายถึงความที่จิตหดหู่และเซื่องซึม (ขุ.อุ.อ. 32/254)
4 มาร หมายถึงกิเลสมาร เป็นต้น (ขุ.อุ.อ. 32/255)
5 รักษาจิต หมายถึงปิดกั้นอินทรีย์มีมนินทรีย์เป็นที่ 6 ด้วยสติสังวร (ขุ.อุ.อ. 32/255)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :237 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [4. เมฆิยวรรค] 3. โคปาลกสูตร
3. โคปาลกสูตร
ว่าด้วยนายโคบาล
[33] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะลงข้างทาง เข้าไป ณ ควงไม้ต้นหนึ่ง
แล้วประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ลำดับนั้น นายโคบาลคนหนึ่ง ได้เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรง
ชี้แจงให้นายโคบาลนั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
นายโคบาลนั้น ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยาก
รับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ
ผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี นายโคบาลนั้น
ทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่งถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป
ครั้นคืนนั้นผ่านไป นายโคบาลนั้นสั่งให้คนจัดข้าวปายาสมีน้ำน้อยและเนยใสใหม่
อย่างเพียงพอไว้ในนิเวศน์ของตนแล้วส่งคนไปกราบทูลภัตกาลว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า” ขณะนั้น ในเวลาเช้า
พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังบ้านของ
นายโคบาลนั้นพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ นายโคบาล
ได้นำข้าวปายาสมีน้ำน้อยและเนยใสใหม่ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
ให้อิ่มหนำสำราญด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงวางพระหัตถ์แล้ว
นายโคบาลจึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจง
ให้เขาเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบ
ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :238 }