เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [4. เมฆิยวรรค] 2. อุทธตสูตร
2. อุทธตสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
[32] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าสาลวัน ซึ่งเป็นทางเข้ากรุง
กุสินาราของพวกเจ้ามัลละ สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล
ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง
ไม่สำรวมอินทรีย์อยู่ ณ กระท่อมในป่า ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล
ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง
ไม่สำรวมอินทรีย์อยู่ ณ กระท่อมในป่า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน1
ภิกษุผู้ไม่รักษากาย2 มีความเห็นผิด
ถูกถีนมิทธะ3ครอบงำ ย่อมไปสู่อำนาจมาร4
เพราะฉะนั้น ภิกษุควรรักษาจิต5
มีความดำริชอบเป็นอารมณ์
มุ่งความเห็นถูกต้องเป็นสำคัญ
รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของเบญจขันธ์
ครอบงำถีนมิทธะได้ ก็สามารถละทุคติได้ทั้งหมด
อุทธตสูตรที่ 2 จบ

เชิงอรรถ :
1 พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงโทษในการอยู่ด้วยความประมาท และอานิสงส์ในการอยู่ด้วยความไม่
ประมาทตามลำดับ (ขุ.อุ.อ. 32/254)
2 ผู้ไม่รักษากาย หมายถึงผู้ไม่ใช้สติคุ้มครองป้องกันกายวิญญาณ 6 (ขุ.อุ.อ. 32/254)
3 ถีนมิทธะ หมายถึงความที่จิตหดหู่และเซื่องซึม (ขุ.อุ.อ. 32/254)
4 มาร หมายถึงกิเลสมาร เป็นต้น (ขุ.อุ.อ. 32/255)
5 รักษาจิต หมายถึงปิดกั้นอินทรีย์มีมนินทรีย์เป็นที่ 6 ด้วยสติสังวร (ขุ.อุ.อ. 32/255)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :237 }