เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [3. นันทวรรค] 5. มหาโมคคัลลานสูตร
4. สารีปุตตสูตร
ว่าด้วยพระสารีบุตรเถระ
[24] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติ
ไว้เฉพาะหน้าอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสารีบุตรผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย
ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ภูเขาศิลาล้วนตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้น เพราะสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวดุจภูเขา1
สารีปุตตสูตรที่ 4 จบ

5. มหาโมคคัลลานสูตร
ว่าด้วยพระมหาโมคคัลลานเถระ
[25] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
มีกายคตาสติ2ที่ตั้งมั่นภายในตนอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
1 ขุ.เถร. (แปล) 26/999/503
2 กายคตาสติ มีความหมายหลายนัย คือ นัยที่ 1 หมายถึงสติที่ตั้งมั่นในกายด้วยอุปจารสมาธิ และ
อัปปนาสมาธิ โดยวิธีมนสิการความปฏิกูลในอาการ 32 มีผม ขน เล็บ เป็นต้น นัยที่ 2 หมายถึงสติที่ตั้ง
มั่นในกายด้วยอุปจารสมาธิและให้มนสิการเป็นไปด้วยสติสัมปชัญญะที่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก กำหนด
รู้อิริยาบถทั้ง 4 และการพิจารณาอสุภะ นัยที่ 3 หมายถึงสติที่สัมปยุตด้วยวิปัสสนาตั้งขึ้นด้วยพิจารณา
เห็นกฎไตรลักษณ์ในธาตุ 4 แต่ในที่นี้ทรงประสงค์เอานัยที่ 3 (ขุ.อุ.อ. 25/200)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :219 }